กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--บลจ.กสิกรไทย
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ. กสิกรไทย มีกำหนดจ่ายเงินปันผลกองทุนต่างประเทศจำนวน 5 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค ยูเอสเอ หุ้นทุน (K-USA) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 - 31 กรกฎาคม 2560 กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน หุ้นทุน (K-EUROPE) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 - 31 กรกฎาคม 2560 กองทุนเปิดเค เอเชียน สมอลเลอร์ หุ้นทุน (K-ASIA) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 - 31 กรกฎาคม 2560 กองทุนเปิดเค อินเดีย หุ้นทุน (K-INDIA) ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 - 31 กรกฎาคม 2560 และกองทุนเปิดเค โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ออพพอร์ทูนนิตี้ (K-GEMO) ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 - 31 กรกฎาคม 2560 โดยทั้ง 5 กองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลพร้อมกันในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 นี้ รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 392.59 ล้านบาท
ด้านผลการดำเนินงานของกองทุนที่จ่ายปันผลในครั้งนี้ นายนาวินกล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกองทุน K-USA ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวเป็นบวกอยู่ที่ 17.27% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 60) สามารถเอาชนะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานของกองทุน ซึ่งบวกเพียง 9.68% โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเติบโต (Growth Stock) ในกลุ่มไอทีและสินค้าฟุ่มเฟือยที่กองทุนเน้นลงทุน ซึ่งเป็นผลจากการที่กองทุนคัดเลือกหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ร่วมกับการพิจารณาคุณภาพของบริษัทที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน ส่งผลให้กองทุนมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ส่วนปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงได้หรือไม่ หลังจากที่ไม่สามารถผลักดันกฎหมายประกันสุขภาพที่มาแทนโอบามาแคร์ได้สำเร็จ รวมถึงต้องติดตามจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และการปรับลดขนาดงบดุล ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้
ด้านผลการดำเนินงานของกองทุน K-EUROPE ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวเป็นบวกอยู่ที่ 9.51% ชนะเกณฑ์มาตรฐานที่ 8% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 60) สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนและการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป โดยขณะนี้ราคาหุ้นนับว่าอยู่ในระดับถูกมากกว่าหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่นักลงทุนต้องจับตามองคือ เรื่องค่าเงินยูโรที่มีแนวโน้มแข็งค่ากดดันภาคการส่งออกในช่วงสั้น พร้อมติดตามผลกระทบจาก Brexit ที่มีต่อเศรษฐกิจยุโรปในระยะต่อไป
นายนาวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในเอเซีย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยมีจีน และอินเดียเป็นตลาดหลักในการขับเคลื่อน และยังมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ อานิสงส์จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงยังส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในเอเซียมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นเอเซียมีความน่าสนใจในการลงทุน สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน K-ASIA ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวเป็นบวกอยู่ที่ 22.67% สามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 17.36% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 60) กองทุน K-GEMO ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวเป็นบวกอยู่ที่ 23.20% ใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐานที่ 23.28 %( ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 60) ในขณะที่กองทุน K-INDIA ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวเป็นบวกอยู่ที่ 25.24% ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 29.47 % (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 60)
ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุน K-USA กองทุน K-EUROPE กองทุน K-ASIA กองทุน K-INDIA และกองทุน K-GEMO สามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือติดต่อ KAsset Contact Center 02673 3888
กองทุน รอบผลการดำเนินงาน อัตราเงินปันผล (บาท/หน่วย)
K-USA 1พฤษภาคม2560 - 31กรกฎาคม2560 0.25
K-EUROPE 1สิงหาคม2559 - 31กรกฎาคม2560 0.25
K-ASIA 1พฤศจิกายน2559 - 31กรกฎาคม2560 0.25
K-INDIA 1กุมภาพันธ์2560 - 31กรกฎาคม2560 0.30
K-GEMO 1พฤษภาคม2560 - 31กรกฎาคม2560 0.20
*คิดจาก NAV วันที่ 31 ก.ค. 60
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายหน่วยลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้