กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ปชป
นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2544 แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณา การจัดสรรงบประมาณ ในส่วนกระทรวงการคลัง เป็นอันดับแรก โดยมีการพิจารณางบประมาณของกรมศุลกากรที่ตั้งไว้ 1,226 ล้านบาท กรรมาธิการฯ ไม่มีการตัดงบฯลงโดยได้อนุมัติผ่านทั้ง 2 แผนงานที่เสนอมา นอกจากนี้ได้มีการพิจารณาการจัดงบฯในส่วน สำนักงบปลัดกระทรวงการคลัง ที่มีการตั้งไว้ 89,886 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 หน่วยงานคือ งานบริหารการคลังและงบประมาณ 88 ล้านบาท งบในส่วนสินเชื่อเพื่อการเกษตร 500 ล้านบาท และงบแผนงานชำระหนี้เงินกู้ 89,277 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการสอบถามการชำระหนี้คืนเงินต้นในประเทศและต่างประเทศ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า การชำระหนี้เงินต้นภายในประมาณจำนวน 552 ล้านบาท ต่างประเทศ จำนวน 11,021 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ยทั้งหมด 77,397 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประมาณ 57,516 ล้านบาท ต่างประมาณ 19,880 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบสำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้ 306 ล้านบาท โดยกรรมาธิการฯ ได้ซักถามถึง จำนวนเงินกู้ทั้งหมดที่ไทยได้ขอกู้จากในประเทศและต่างประเทศ เป็นจำนวนเท่าไหร่ รวมทั้งจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืน แต่เนื่องจากทางตัวแทนสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังไม่ได้นำเอกสารมาชี้แจงจึงได้ขอเลื่อนไปชี้แจงในวันที่ 5 ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตามที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้กำหนดระยะเวลาการพิจารณางบประมาณ ในส่วนของกรรมาธิการ คือจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมสภาวาระ 2,3 ในวันที่ 6-8 ก.ย. จากนั้นส่งให้วุฒิสภาพิจารณา 20 วัน จึงคาดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือน ต.ค.นี้
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเสนอของนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือแห่งประเทศไทย ที่ขอร่วมเข้าฟังการพิจารณางบประมาณฯ โดยกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเรื่องนี้ อย่างกว้างขวางไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. หลังจากที่ได้รับหนังสือ ซึ่งในการพิจารณาวันนี้ไม่ได้มีการหยิบยก เรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก แต่ได้มีการแจกเอกสารให้กรรมาธิการไปลงคะแนนลับว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พร้อมให้เหตุผลประกอบ แลจะมีการรวบรวมผลสรุปในวันที่ 5 ก.ค.
"ที่ประชุมมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่าจะสมควรให้สื่อมวลชนเข้าฟังหรือไม่ โดยฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าควรจะพิจารณาอย่างโปร่งใสเพราะทุกครั้งก็มักจะมีคนนำความลับในที่ประชุมไปเปิดเผยอยู่แล้ว บางครั้งก็มีการนำเอกสารไปแจก แต่ก็มีการคัดค้านว่าประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาก็มีการขอเข้าร่วมฟังทุกครั้ง แต่ไม่เคยอนุญาตให้เข้าฟัง เพราะมีทีมงานโฆษกคอยแถลงอยู่แล้วก็น่าจะเพียงพอ อีกทั้งระหว่างการประชุมมีคนเดินไปมาจำนวนมากหากสื่อมวลชนเดินเข้าออกทำให้ดูไม่เรียบร้อยหรืออาจจะให้มีการถ่ายทอดวงจรปิดให้สื่อมวลชนดูอยู่ข้างนอกส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องดูเหตุผลของกรรมาธิการส่วนใหญ่" นายสุรพงษ์กล่าว.--จบ--
-ยก-