กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ความในใจจากลูกที่มีต่อแม่ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 2560" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจาย ทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,246 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความในใจจากลูกที่มีต่อแม่ 2560 การสำรวจใช้การ สุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามการพักอาศัยอยู่กับคุณแม่ในปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.10 ระบุว่า ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน และร้อยละ 43.90 ระบุว่า พักอาศัยอยู่ด้วยกันเมื่อถามว่าประชาชนมีการบอกรักกับคุณแม่ของท่านบ่อยมากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.17 ระบุว่า ไม่เคยบอกรักเลย รองลงมา ร้อยละ 21.43 ระบุว่า บอกรักนาน ๆ ครั้ง ในรอบ 1 เดือน ร้อยละ 20.95 ระบุว่า บอกรักนาน ๆ ครั้งในรอบ 1 ปี ร้อยละ 12.60 ระบุว่า บอกรักกันเป็นบางครั้ง 1 – 3 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 11.88 ระบุว่า บอกรักกันทุกวัน และร้อยละ 4.97 ระบุว่า บอกรักกันเกือบทุกวัน 4 – 6 วัน/สัปดาห์
ด้านความกล้าในการที่จะบอกรักคุณแม่เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ปี 2560 หากมีโอกาสได้อยู่ต่อหน้าหรือพูดคุยผ่านสื่อต่าง ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.34 ระบุว่า กล้าบอกรัก เพราะ มีความรักสนิทสนมกับคุณแม่และบอกรักกันเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าอาย เป็นสิ่งที่ดี แม่เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้มีพระคุณกับเรา ควรแสดงออกให้ท่านได้ทราบ และไม่จำเป็นต้องเป็นวันแม่เสมอไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่เคยบอกรับคุณแม่มาก่อน คุณแม่อายุมากแล้ว ครั้งนี้จะบอกรักให้ได้ รองลงมาร้อยละ 16.29 ระบุว่า ไม่กล้าบอกรัก เพราะ รู้สึกเขินหรืออาย แต่จะใช้การกระทำในการแสดงออก หรือการดูแลเอาใจใส่แทนมากกว่าคำพูด เช่น ซื้อของไปฝาก พาไปทานข้าว ดูแลค่าเลี้ยงดูหรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะที่บางส่วนระบุว่า คุณแม่อายุมากแล้ว หรือไม่ได้มีความสนิทกับคุณแม่ คุณยายเป็นคนเลี้ยงมาตั้งแต่เกิด และร้อยละ 1.37 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่ รัฐบาล องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ควรสนับสนุนให้สถาบันครอบครัวแสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.40 ระบุว่า เน้นการแสดงออกความรักด้วยการสนทนา การพูดคุยกันแบบเจอหน้ากัน มากกว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 26.14 ระบุว่า รณรงค์ให้สมาชิกในครอบครัวแสดงออกถึงความรักในรูปแบบต่าง ๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นวันสำคัญเท่านั้น ร้อยละ 17.92 ระบุว่า จัดกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เช่น กิจกรรมช่วยเหลือสังคม ร้อยละ 16.10 ระบุว่า ผลิตสื่อ เช่น ละครสั้น คลิปวิดีโอ โฆษณา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างความรัก ความเอาใจใส่ในครอบครัวผ่านสื่อต่าง ๆ ร้อยละ 8.99 ระบุว่าสนับสนุน หรือมอบรางวัล ครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของความรักของสมาชิก ในครอบครัว ร้อยละ 0.91 อื่น ๆ ได้แก่ ภายในครอบครัวควรแสดงความรักต่อกันโดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล อยู่ที่จิตสำนึกแต่ละคนที่จะแสดงออก และเน้นบอกรักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และร้อยละ 1.54 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.75 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและ ภาคกลาง ร้อยละ 18.22 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.13 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 52.01 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.99 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 16.69 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 23.35 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 28.25 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 22.95 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 5.46 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 3.29 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 90.29 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.69 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.04 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.98 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 29.61 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 62.36 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.49 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 5.54 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 19.02 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.91 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.03 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.05 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.74 จบการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 6.26 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 13.00 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.01 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.26ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.56 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.26 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 9.79 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 5.22 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 13.64 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.43 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.84 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.90 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.54 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.28 ไม่ระบุรายได้