กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--ดรีมเวิลด์
ระบบการศึกษาไทยเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะขณะนี้ทุกตัวชี้วัดต่างระบุว่า ขีดความสามารถของเด็กนักเรียน ครู โรงเรียน มหาวิทยาลัยในประเทศไทย เริ่มถดถอยลงตามลำดับ ถึงแม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษามาเกือบ 20 ปี
สวนสนุกดรีมเวิลด์ เป็นอีกหนึ่งเอกชนที่ก้าวเข้ามาสนับสนุนเรื่องการศึกษา โดยได้จัดทำโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) จัดการประกวด "ครูคณิตศาสตร์ ผู้พัฒนาตน" ในระดับประถมศึกษาปีที่ 3 - 6 ขึ้น โดยมีหลักเกณฑ์การให้รางวัลที่วัดจากการใช้คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั้งห้อง เปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีที่แล้ว โดยครูผู้สอนคนเดียวกันต้องสูงกว่า 5% ขึ้นไป ประเด็นที่สอง พิจารณาจากแผนการสอนที่ใช้จริงในห้องเรียน ไม่ต้องทำขึ้นใหม่ และสุดท้ายคือการสังเกตการณ์ในห้องเรียนจริง เพื่อรู้ถึงบรรยากาศในห้องเรียนและความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน เป็นต้น
นางสาวพัณณิน กิติพราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ สวนสนุกดรีมเวิลด์ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการดำเนินการโครงการในครั้งนี้ ว่า "เนื่องจากมีการปฏิรูปการศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ผลการเรียนของนักเรียนก็ยังไม่ดีขึ้น จึงต้องการนำเสนอโครงการนี้ เพื่อเป็นโครงการต้นแบบของวิธีการประเมินผลและการให้ค่าตอบแทนครู ที่เชื่อมโยงกับผลการเรียนของนักเรียนอันจะเป็นแรงจูงใจให้ครูพัฒนาวิธีการสอนของตนเอง ทำให้นักเรียน เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น"
โครงการประกวด "ครูคณิตศาสตร์ ผู้พัฒนาตน" เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 มีครูทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 446 ท่าน มีครูที่ได้รับรางวัล รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศและรางวัลชมเชย รวมทั้งหมด 38 ท่าน ซึ่งคุณครูและผู้อำนวยการโรงเรียนจะเดินทางมารับมอบรางวัลจาก ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ที่โรงละครสยามนิรมิต
นางสุกัญญา งามบรรจง ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า " มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่บริษัทเอกชนเช่น สวนสนุกดรีมเวิลด์ เล็งเห็นคุณค่าของการศึกษา เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ ซึ่งประโยชน์สุดท้ายย่อมอยู่ที่เด็กนักเรียน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ให้มีคุณภาพและมีความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาต่อไป "
คุณครูอุทัย เกษกัน จากโรงเรียนบ้านดวนบากน้อย จังหวัดยโสธร ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 ในระดับชั้นประถมปีที่ 6 กล่าวว่า "หากมีวิธีการปรับเปลี่ยนระบบประเมินผลครูให้สอดคล้องกับผลการเรียนของนักเรียน ก็น่าจะมีผลทำให้ครูหันมาสนใจพัฒนาการสอนของตนเอง ได้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนดียิ่งขึ้น"
การขับเคลื่อนครูเกือบ 400,000 คนทั่วประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยครูมีคุณภาพที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะความตั้งใจ ความทุ่มเท พื้นฐานความรู้ ทักษะความชำนาญ และสภาพแวดล้อม เชื่อว่ามีครูที่รักการสอนอย่างจริงใจ พยายามพัฒนาตนตลอดเวลาแต่ก็ยังไม่มากพอ สำหรับการกระตุ้นคนส่วนใหญ่ซึ่งทุกองค์กรก็มีลักษณะเดียวกัน ระบบที่ใช้กันทั่วไปคือ การตอบแทนที่วัดจากผลงานที่เป็นเป้าประสงค์ จึงจะสามารถกระตุ้นจูงใจได้ ดังนั้น หากไม่แก้ระบบการประเมินผลครูให้สัมพันธ์กับการเรียนรู้ของนักเรียน ถึงจะปฏิรูปอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นได้