กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ปตท.
ปตท. ลงนามในโครงการนำร่องส่งเสริมรถยนต์ดีเซลใช้ก๊าซเอ็นจีวี กับ ผู้ประกอบการรถโดยสาร - ผู้ประกอบการขนส่ง -บ.ดัดแปลงเครื่องยนต์ -บ.นำเข้าเครื่องยนต์เอ็นจีวี
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการนำร่องรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนดีเซล”เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร และผู้ประกอบการขนส่ง ทำการดัดแปลง/ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤติราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ ผู้ประกอบการรถโดยสาร , ผู้ประกอบการขนส่ง , บริษัทผู้ดัดแปลงเครื่องยนต์ และ บริษัทนำเข้าเครื่องยนต์เอ็นจีวี ดังนี้
กลุ่มที่ 1
“โครงการนำร่องดัดแปลงรถโดยสารดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง” ผู้ประกอบการรถโดยสาร และ ผู้ประกอบการขนส่ง รวม 8 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด , บริษัท เอส เค ทัวร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท ลาดกระบัง จำกัด, บริษัท ไทยเทรลเลอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทีพี การเดินรถ , บริษัท MML Transport Co Ltd, บริษัท United Motor Sales Co.,Ltd. และ บริษัท วังศกาญจน์กิจ จำกัด ทั้ง 8 บริษัท จะนำรถโดยสารและรถหัวลากในสังกัดจำนวน 10 คัน ให้บริษัทผู้ดัดแปลงเครื่องยนต์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท แซส เทค โซลูชั่น จำกัด กับ บริษัท Omnitek Engineering Corporation จากประเทศสหรัฐอเมริกา, บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ชื่นศิริ จำกัด กับบริษัท Advanced Fuel Technology Pty Ltd จากประเทศออสเตรเลีย และ บริษัท GreenGas technologies Ple Ltd จากประเทศออสเตรเลีย ทำการดัดแปลงเป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (Dedicated CNG และ Diesel Duel Fuel) ทดแทนการใช้ดีเซล โดย ปตท. จะมอบถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 100 ใบ เพื่อใช้ในการติดตั้งให้กับรถยนต์ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการวัดและทดสอบกำลังของเครื่องยนต์และไอเสียก่อนและหลังการดัดแปลง ทั้งนี้เพื่อให้มีข้อมูลเป็นตัวเลขที่ชัดเจนที่แสดงได้ว่าการดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้เป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารและรถขนส่งในการดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเดิมมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การดัดแปลงเครื่องยนต์, อุปกรณ์เอ็นจีวี, วิศวกรรม, บุคลากร ฯลฯ
บริษัทผู้ดัดแปลงเครื่องยนต์เป็นผู้รับภาระทั้งหมด รวมถึงการขนส่งเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อทำการดัดแปลงเป็นเครื่องยนต์เอ็นจีวีต้นแบบในต่างประเทศด้วย
กลุ่มที่ 2 “โครงการนำร่องเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี”
ผู้ประกอบการขนส่ง (บริษัท เค.เอ็น.อาร์. กรุ๊ฟ จำกัด) จะทำการจัดซื้อเครื่องยนต์เอ็นจีวี จาก บริษัท ซัมซุง จำกัด จำนวน 1 เครื่อง โดย บริษัท ซัมซุงฯ จะทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์พร้อมติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มเติม เพื่อให้รถหัวลากของ บริษัท เค.เอ็น.อาร์. กรุ๊ฟฯ สามารถใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมันดีเซลได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำรถต้นแบบนี้ทดลองใช้งานเป็นระยะเวลา 3 เดือน หากพบว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ จะทำการเปลี่ยนเครื่องยนต์ของรถหัวลากจำนวนอีก 20 คัน มาใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนดีเซล นอกจากนี้ ปตท. ยังได้มีแผนร่วมกับ บริษัท เค.เอ็น.อาร์. กรุ๊ฟฯ ในการนำรถหัวลากจำนวนทั้งสิ้น 40 คัน ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง ในโครงการที่ ปตท. จะร่วมกับ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นำก๊าซธรรมชาติที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันหนองตูม จ. พิษณุโลก มาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas หรือ LNG) เพื่อจัดส่งให้สถานีบริการก๊าซฯ ที่ จ.กำแพงเพชร ซึ่งที่สถานีนี้จะมีอุปกรณ์เปลี่ยนจากก๊าซ LNG ให้เป็นก๊าซเอ็นจีวี เพื่อเติมให้กับรถหัวลากทั้ง 40 คันนี้ โดยเรียกสถานีฯ นี้ว่า LCNG นับเป็นโครงการนำร่องในการขยายการใช้เอ็นจีวีสู่ภูมิภาค
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดี ที่ ปตท. ได้ดำเนิน “โครงการนำร่องรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนดีเซล” เพื่อขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลในภาคคมนาคมขนส่งของประเทศ ในการบรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤติราคาน้ำมันที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มต่อเนื่องในระยะยาว การจัดหาพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นพลังงานทดแทนให้กับประเทศ นอกจากเอทานอลและไบโอดีเซลแล้ว การนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในยานพาหนะ โดยเฉพาะกับรถยนต์สาธารณะ อาทิ รถแท็กซี่, รถโดยสาร และ รถบรรทุกขนส่ง จะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันลงไปได้มาก และจะลดค่าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของผู้ประกอบการได้ เพราะก๊าซเอ็นจีวีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลถึงร้อยละ 50 และถูกกว่าเบนซิน 95 ร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังเป็นพลังงานสะอาด มีความปลอดภัยสูง และยังจะสามารถช่วยชาติประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตได้เองในประเทศ
นอกจากนั้นกระทรวงพลังงานจะเร่งผลักดันนโยบายการส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวีอย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดทำมาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ ปตท. ส่งเสริมในเรื่องของการขยายตลาดการใช้และสร้างสถานีบริการก๊าซฯ ให้ครอบคลุม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า การที่ ปตท. ได้ดำเนิน “โครงการนำร่องรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนดีเซล”นี้ เพื่อที่จะสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคคมนาคมให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น และ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการรถโดยสารและผู้ประกอบการรถขนส่ง ให้สามารถนำรถยนต์ในสังกัดมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพลังงาน และ ปตท. กำลังพิจารณามาตรการเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ และหากโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะนำรถยนต์เข้าทำการดัดแปลง/ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทดแทน จำนวน 500 คัน ภายในปี 2548 ซึ่งจะทำให้ประเทศลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึงปีละ 20 ล้านลิตร คิดเป็นเงินประมาณ 332 ล้านบาท (เปรียบเทียบ ณ ฐานราคาน้ำมันสำเร็จรูปนำเข้าจากสิงคโปร์วันที่ 01/04/48 คือ 1 บาร์เรล เท่ากับ 64.4 US$)
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 4,750 คัน และ มีสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 29 สถานี โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 สถานี ภายในปลายปี 2549 และเพิ่มเป็น 120 สถานี ภายในปี 2551 ซึ่ง ปตท. มีแผนจะขยายเครือข่ายสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีให้ครอบคลุม ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และ ในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคในอนาคตอีกด้วย
โทรศัพท์ 0-2537-3217
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
โทรสาร 0-2537-3211
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)--จบ--