กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดตัว "โครงการสร้างสรรค์สารานุกรม ตารางสีอาเซียน" ยิ่งใหญ่ สร้างมาตรฐานสี เพิ่มศักยภาพนักออกแบบและผู้ประกอบการทำตลาดอาเซียน ระดมนักวิชาการและนักธุรกิจดังจัดเสวนาให้ความรู้เรื่องสีแก่นักออกแบบกว่า ๑๐๐ คนโดยเฉพาะ พร้อมเปิดแอพพลิเคชั่นบนมือถือต่อยอดคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตประธานกรรมการบริหาร ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และประธานในพิธีกล่าวในงานเปิดโครงการ "สร้างสรรค์สารานุกรม ตางสีอาเซียน Colors of ASEAN และการต่อยอดผลิตภัณฑ์" ว่า การดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้มีการผลักดันให้มีการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่จะช่วยสร้างศักยภาพและการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ
แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแนวคิดสำคัญที่มีส่วนช่วยในด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมในชุมชนของหลายประเทศในโลก โดยยึดหลักแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน การสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมตลอดจนการสั่งสมความรู้ของสังคม และนับเป็นเรื่องดีที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งทางภาครัฐและเอกชนจัดทำ"โครงการสร้างสรรค์สารานุกรม ตารางสีอาเซียน Colors of ASEAN และการต่อยอดผลิตภัณฑ์" ขึ้น เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยให้นักออกแบบ ผู้ประกอบการ นำไปต่อยอดและพัฒนาการทำตลาดในอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า "โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้มีมาตรฐานเดียวกันสำหรับการใช้สีในงานออกแบบ สร้างศักยภาพ ยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถด้านการออกแบบ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และทำให้เกิดความเข้าใจในโลกทัศน์ของประชาคมอาเซียน สามารถถ่ายทอดความคิดและสื่อสารเข้าใจตรงกัน ที่สำคัญยังสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกที่มีความคิดจะใช้สีอาเซียนให้เกิดความสำคัญเชิงธุรกิจขึ้นมาเป็นรูปธรรม"
ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการนี้เพื่อให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีมาตรฐานเดียวกันสำหรับการใช้สีในงานออกแบบ โดยเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องสี พร้อมทั้งทดลองทำการผลิตสินค้าตัวอย่างจากสีอาเซียน เป็นต้นแบบในการสร้างมูลค่าให้สินค้าต่างๆ ได้จริง สร้างความตระหนักและความเข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรมในประเทศอาเซียนจากพื้นฐานของสีที่เหมือนและแตกต่างกันไป สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าที่มีความเหมาะสมกับอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ความรู้กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักออกแบบ โดยเฉพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มุ่งเจาะตลาดประเทศใหม่คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม นำไปสร้างผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาต่อยอดเป็นสื่อโฆษณาสมัยใหม่
การออกแบบงานต่างๆ ในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สี เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อให้ผลงานที่จัดทำขึ้นมีแรงดึงดูด มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยนอกจากการทำสารานุกรมตารางสีอาเซียนแล้ว โครงการฯ ยังได้สร้างแอพพลิเคชั่นสีอาเซียน เพื่อรองรับการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือด้วย ซึ่งจุดเด่นของแอพฯ นี้จะช่วยในการเลือกสีที่ถูกต้องตามความเหมาะสมและสวยงาม สามารถบ่งบอกสีของแต่ละประเทศได้ชัดเจน หากนักธุรกิจ นักออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์ นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่สนใจต้องการศึกษาหรือใช้ประโยชน์จากตารางสี สามารถเข้าไปที่แอพพลิเคชั่นตารางสีอาเซียนเพื่อนำชุดสีที่จัดทำขึ้นไปใช้อย่างถูกต้อง เกิดประโยชน์ต่อผลงาน และส่งผลดีต่อนักออกแบบภายในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
"เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างสรรค์ พัฒนาสารานุกรมและตารางสีอาเซียนให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งจะช่วยสร้างศักยภาพ ยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถด้านการออกแบบและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้โลกทัศน์ของประชาคมอาเซียนสามารถถ่ายทอดความคิดและสื่อสารเข้าใจตรงกันมากยิ่งขึ้น และนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป" ผศ.ดร.สุรพงษ์กล่าว
สำหรับการจัดงานในวันนี้มุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องของสีเป็นสำคัญ โดยจะช่วยให้นักออกแบบได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถเข้าใจลูกค้าได้อย่างแท้จริง ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ "สีอาเซียน เข้าใจความต่าง สร้างโอกาส" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล คณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรังสิต และผู้บริหารจากภาคเอกชน ที่นำความรู้ ประสบการณ์การใช้สีมาต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องของสีโดยเฉพาะ รวมทั้งได้นำ "ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม" จาก ๑๐ ประเทศกลุ่มอาเซียนที่นำ "สี" มาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จนได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมากมาจัดแสดงในงานด้วย