กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--แพนดิจิตัล ซิสเต็ม
ในปี พ.ศ.2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพื้นที่บ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและฝนแล้งเป็นประจำทุกปี บางปีถนนถูกตัดขาดสัญจรไม่ได้ น้ำที่ท่วมในหน้าฝนไม่สามารถกักเก็บไว้ใช้ได้ในหน้าแล้ง ทรงรับทราบถึงปัญหา ความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานราชการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือดูแลราษฎร ให้อยู่ดีกินดี
ในคราวเดียวกันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปทอดพระเนตรพื้นที่ หนองอึ่ง ในพื้นที่บ้านท่าเยี่ยม ตำบลค้อเหนือ ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการขุดลอกพื้นที่สาธารณประโยชน์หนองอึ่ง พร้อมทั้งพัฒนาและปรับปรุงดินในพื้นที่แห้งแล้งด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝก รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง ในพื้นที่ 3,006 ไร่ โดยให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาในรูปแบบของ ป่าชุมชน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับสนองพระราชดำริบูรณาการโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ เป็นไปตามพระราชประสงค์
ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ได้มีการจัดตั้งเป็น ป่าชุมชนดงมัน ขึ้นสนองพระราชดำริ ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่า ได้อย่างเกื้อกูล โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ เช่น จังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ กรมส่งเสิมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และส่วนราชการอื่น ๆ ผลจากการมีป่าชุมชน ทำให้เกษตรกรมีรายได้หลัก ที่เกิดขึ้นจากป่าชุมชนดงมันมากมาย ที่สำคัญได้แก่ เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดก่อ จินูน จิ้งโก่ง ไข่มดแดง มันป่า แต่ที่โดดเด่นคือเห็ดโคน ซึ่งดอกมีขนาดใหญ่และยาวกว่าเห็ดโคนทั่วไป ชาวบ้านเรียกกันว่า เห็ดโคนหยวก
ชาวชุมชนดงมันได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้เป็น คลังอาหารชุมชนด้วยวิธีการสหกรณ์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร กองประสานงานโครงการพระราชดำริ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดตั้งเป็น "สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 มีสมาชิกแรกตั้ง 67 คน ดำเนินการรับซื้อของป่าจากสมาชิกและเกษตรกรเฉลี่ยปีละ 5 – 6 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันนอกจากจะมีเห็ดโคนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว ยังมีเห็ดอื่นๆ มด แมลงและพืชที่สามารถเป็นอาหารได้เกิดขึ้นที่ป่าชุมชนดงมันและนับวันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในการฟื้นฟูสภาพป่าชุมชน ทำให้ราษฎรมีรายได้จากป่าดงมันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด ได้นำของป่าที่รับซื้อจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปมาทำการแปรรูป และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากของป่าภายใต้เครื่องหมายการค้า "วนาทิพย์" ซึ่งได้รับการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์และยกย่องจากจังหวัดยโสธรให้เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นของจังหวัด รางวัลโอท็อป 5 ดาว หลายปีติดต่อกัน สร้างงานและรายได้ให้กับสมาชิกองค์กรป่าชุมชน รวมถึงคืนกำไรเพื่อการคุ้มครองดูแลรักษาป่าโดยองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แปรรูปทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ เห็ดโคนในน้ำเกลือ เห็ดเผาะในน้ำเกลือ แม่เป้ง คั่วเกลือ ไข่มดแดงในน้ำเกลือ เห็ดระโงกในน้ำเกลือ และเห็ดตับเต่าในน้ำเกลือ จำหน่ายตามขนาดบรรจุ เป็นการยืดอายุผลผลิตและเพิ่มรายได้แก่ราษฎร วัตถุดิบของป่าที่ใช้ในการผลิตทางสหกรณ์จะรับซื้อจากสมาชิก ถ้าช่วงไหนมีวัตถุดิบเข้ามามากก็จะระดมสมาชิกมาช่วยกันผลิต ปริมาณการผลิตขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในช่วงนั้น ๆ ถ้าเป็นเห็ดโคนจะออกมากในช่วงหน้าฝน เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ผลผลิตที่ได้สหกรณ์ได้จำหน่าย ณ อาคารที่ทำการสหกรณ์ฯ บริษัทสยามแมคโครจำกัด งานแสดงสินค้าของหน่วยงานราชการ ร้านอาหารทั่วไปและขณะนี้อยู่ระหว่างขยายช่องทางจำหน่ายไปยังในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
กิจการแปรรูปอาหารจากป่าชุมชนดงมัน ภายใต้สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ เป็นผลสำเร็จของการฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่หนองอึ่งที่ได้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าเช่นดังเดิม และปัจจุบันสำนักงานโครงการฯ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมการเพาะเชื้อเห็ดป่า ในกล้าไม้ยางนา โดยนำเห็ดเผาะดอกแก่ที่เก็บได้จากผืนป่ามาแยกสปอร์ แล้วนำสปอร์ไปผสมน้ำคนให้เข้ากัน หยอดน้ำเชื้อสปอร์เหล่านี้ลงไปในกล้าไม้ยางนาอายุ 1 เดือน ทำซ้ำกัน 2 รอบ ในเดือนที่ 5 เชื้อสปอร์ของเห็ดป่าจะเริ่มไปเกาะกับระบบ รากฝอยของกล้าไม้ยางนา ช่วยในการตรึงไนโตรเจนและส่งผลให้ต้นกล้าที่ได้มีลำต้นใหญ่สมบูรณ์กว่าต้นที่ไม่ได้หยอด เชื้อสปอร์ สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้ง ปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า เชื้อเห็ดป่าจะช่วยให้ต้นไม้หาอาหาร ส่วนต้นไม้ก็จะปล่อยสารบางอย่างให้เชื้อเห็ด เป็นการพึ่งพากันและกัน เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป ก็จะมีเห็ดป่าเกิดขึ้นบริเวณรอบโคนต้น ผลจากการทดลองของสำนักงานโครงการฯ ที่นำต้นกล้าไปปลูกในป่าพื้นที่อื่น พบว่าต้นกล้ายางเพาะเชื้อ มีเห็ดขึ้นบริเวณโคนต้น ร้อยละ 80-90 ของจำนวนต้นกล้าที่นำไปปลูก ซึ่งขณะนี้ทางโครงการฯ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กำลังขยายต้นกล้ายางนาเพาะเชื้อไปให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่อื่นๆต่อไป
และเมื่อช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะได้เดินทาง
ลงพื้นที่พร้อมร่วมประชุมกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ โดยอธิบดีฯ ได้มอบนโยบายในการดำเนินงาน โดยเน้นย้ำให้สหกรณ์ฯ บริหารงานเพื่อมวลสมาชิก พร้อมผลักดันให้เป็นต้นแบบการดำเนินงานในการสร้างป่าควบคู่การพัฒนาชุมชน และขยายผลสู่ชุมชนใกล้เคียง สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างยั่งยืนต่อไป โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์แห่งนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามาช่วย พร้อมผลักดันให้เป็นต้นแบบของสหกรณ์ที่มีการบริหารจัดการแหล่งปัจจัยการผลิต ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ แบบคนกับสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นได้มีความสุข มีความอยู่ดีกินดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน มีแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในชุมชน สร้างงานเพิ่มรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ชุมชนและราษฎรใกล้เคียง ที่สำคัญชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ที่ได้สร้างชีวิตให้ชุมชนได้อยู่อย่างยั่งยืน