กองทัพเรือขอเชิญประชาชนร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนาอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า

ข่าวทั่วไป Friday May 4, 2001 11:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กองทัพเรือ
กองทัพเรือ มีกำลังทางเรือที่ใช้ปฏิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของ ชาติทางทะเล เพื่อให้กำลังทางเรือสามารถปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีอู่ซ่อมเรือ เพื่อทำการซ่อมบำรุงเรือให้พร้อมอยู่เสมอ อู่เรือแห่งแรก สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีชื่อว่า อู่เรือหลวง ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของวัดระฆังโฆสิตาราม ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดให้สร้างอู่เรือหลวงเพิ่มอีก ๑ อู่ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงได้เสด็จพระราช ดำเนินมาเปิด "อู่เรือหลวง" เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๓๓ เมื่อเวลาผ่านไป มีการดำเนินกิจการช่างกลเรือให้ทันสมัยขึ้น ตามวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป จาก อู่เรือหลวงในอดีตกลายมาเป็น "กรมอู่ทหารเรือ" ในปัจจุบัน และเนื่องจากมีการพัฒนากำลัง ทางเรือ และอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือที่ทันสมัยขึ้น เรือรบขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าซ่อมทำที่ อู่ทหารเรือธนบุรีได้ กองทัพเรือจึงได้ขออนุมัติรัฐบาลสร้างอู่เรือเพิ่มเติม โดยเลือกพื้นที่ ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจาก กรุงเทพมหานคร ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร บนพื้นที่ ๔๐๐ ไร่ เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ และเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอู่เรือแห่งใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า"
ดังนั้น จึงถือเอาวันที่ ๗ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า เป็นหน่วยขึ้นตรง กรมอู่ทหารเรือ มีเจ้ากรมอู่ทหารเรือ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการ ฯ แต่ในการปฏิบัติงานได้มอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการ ฯ เป็นผู้ทำการแทน อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ใช้คำย่อว่า "อจปร.อร." มีภารกิจในการซ่อมสร้าง ดัดแปลงเรือ และอุปกรณ์ทางช่าง ในการซ่อมทำเรือ จะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ การซ่อมคืนสภาพ เป็นการซ่อมทำเรือที่ใช้ราชการมานานให้มีสมรรถนะใกล้เคียงหรือ เหมือนเรือที่ต่อใหม่ การซ่อมตามระยะเวลา เป็นการซ่อมทำเรือก่อนจะถึงวงรอบการซ่อมคืนสภาพ ทั้งนี้ จะยึดถือชั่วโมงใช้งานของเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนระยะเวลาที่ตัวเรือใต้แนวน้ำถูก กัดกร่อนจากน้ำทะเลมาเป็นเกณฑ์ การซ่อมจำกัด เป็นการซ่อมทำเรือที่เกิดขึ้นก่อนการซ่อมตามระยะเวลา โดยแบ่งเป็นการซ่อมจำกัดประจำปีเพื่อให้พร้อมออกปฏิบัติราชการทะเลได้อย่างต่อเนื่อง และการซ่อม จำกัดฉุกเฉิน เป็นการซ่อมเรือที่อาจเกิดจากความเสียหายที่ไม่อาจคาดเดาได้ ปัจจุบัน อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล โดยได้จัดทำระบบ ISO 9002 เพื่อใช้ในการซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำและได้รับการรับรองจากยูแคส ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ได้นำระบบ ๕ ส มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วย นอกจากภารกิจการซ่อมสร้างเรือแล้ว อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ยังมีงานด้านกิจการ พลเรือน อาทิ การจัดกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การสนับสนุนเครื่องอุปโภค และบริโภคให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ การสนับสนุนน้ำในฤดูแล้งให้แก่หน่วยราชการและ ประชาชนในพื้นที่ช่วยการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง การร่วมปลูกป่าชายเลน การสนับสนุน กำลังพลให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา การร่วมมือกับสถาบันพัฒนา ฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จัดหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงานให้กับทหาร กองประจำการ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยราชการในพื้นที่ โดยการจัดการ แข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีระหว่างทหารเรือและครูในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อีกด้วย อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า จะมุ่งมั่นปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนภารกิจของกองทัพเรือ ในการ ปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของประเทศชาติ ด้วยมาตรฐาน ISO 9002 ทั้งวันนี้และในอนาคต--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ