กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--ธ.กสิกรไทย
กสิกรไทยติดดาบลุยอี-แบงกิ้ง สั่งซื้อเครื่องฝากเงินสดและปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติล็อตใหญ่ ติดตั้งในสาขาและทีเอฟบี อี-แบงกิ้ง เซ็นเตอร์ เพื่อให้บริการที่รวดเร็วแก่ลูกค้าและลดต้นทุนทำรายการของธนาคารได้ถึง 60% ตั้งเป้าเพิ่มธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งอีก 20%
เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.2544) ที่โรงแรม เจ ดับบลิว แมริออท ได้มีพิธีลงนามในสัญญาสั่งซื้อเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ (Automatic Cash Deposit Machine) และเครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติ (Update Passbook Machine) ระหว่างนายอภิชัย บุณยเกียรติ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย นายพัลลภ นาคพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ บิสซิเนส อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัดและนายวนารักษ์ เอกชัย ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
นายอภิชัย บุณยเกียรติ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดซื้อเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ รุ่น 3M2LA และเครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติ รุ่น 9065 ของไอบีเอ็ม เพื่อขยายการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งของธนาคาร โดยเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติรุ่นแรกจำนวน 8 เครื่อง จะติดตั้งที่สาขาและทีเอฟบี อี-แบงกิ้ง เซ็นเตอร์ที่มีปริมาณธุรกิจสูง คือ สาขาสำนักสีลม สำนักพหลโยธิน พัฒน์พงศ์ ราชดำริ สยามสแควร์ ถนนรัชดาภิเษก-ห้วยขวาง ทีเอฟบี อี-แบงกิ้ง เซ็นเตอร์ที่เทสโก้ โลตัส พระราม 4 และที่อาคารสำนักงานใหญ่ โดยเครื่องที่ติดตั้งในสาขาจะให้บริการทุกวันทำการ 09.30-15.30 น. ส่วนเครื่องที่ทีเอฟบี อี-แบงกิ้ง เซ็นเตอร์ จะให้บริการ 06.00-22.00 น. ทุกวันโดยไม่เว้นวันหยุด
และธนาคารมีโครงการที่จะติดตั้งเพิ่มในปีนี้อีก 20 เครื่อง เพื่อให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งแก่ลูกค้าของธนาคารมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติของไอบีเอ็ม รุ่น 3M2LA ซึ่งเป็นรุ่นที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน สามารถรับฝากธนบัตรชนิด 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท ได้ถึง 100 ฉบับต่อครั้ง โดยมีความเร็วในการอ่านธนบัตร 7-8 ฉบับต่อวินาที พร้อมกับสามารถตรวจสอบธนบัตรปลอมได้ทันที และมีกล่องบรรจุธนบัตรได้มากที่สุด 2,500 ฉบับต่อกล่อง จำนวน 4 กล่อง ทำให้เครื่องสามารถให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัญหาเรื่องกล่องบรรจุธนบัตรเต็มทั้งนี้ความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าของเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติจะสามารถทำรายการฝากเงินได้มากกว่า 200 รายการต่อวัน ซึ่งจะใกล้เคียงกับความสามารถในการทำงานของพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ที่สามารถทำรายการได้ประมาณ 180-200 รายการต่อวัน แต่เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติจะมีต้นทุนการทำรายการต่ำกว่าประมาณ 60% คือ พนักงานจะมีต้นทุนประมาณ 25 บาทต่อรายการ ขณะที่เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติจะมีต้นทุนประมาณ 10 บาทต่อรายการ และในอนาคตธนาคารมีโครงการพัฒนา
เครื่องดังกล่าวให้บริการด้านการรับชำระค่าสินค้าและบริการ บริการโอนเงิน และบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการจากเครื่องได้อย่างหลากหลายและคุ้มค่า นอกจากนั้นธนาคารยังได้จัดซื้อเครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติของไอบีเอ็ม รุ่น 9065 อีก 80 เครื่อง เพื่อติดตั้งในสาขาและทีเอฟบี อี-แบงกิ้ง เซ็นเตอร์ ซึ่งจะช่วยการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งของธนาคารมีประสิทธิภาพการให้บริการสูงสุด ช่วยให้ลูกค้าของธนาคารได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้ธนาคารมีเป้าหมายที่จะให้ลูกค้าใช้บริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งเพิ่มขึ้นอีก 20% ในปีนี้
ด้านนายวนารักษ์ เอกชัย ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไอบีเอ็มและธนาคารกสิกรไทย เป็นคู่ค้าทางด้านโซลูชั่นเอทีเอ็ม มาตลอด และเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ รุ่น 3M2LA ที่ธนาคารกสิกรไทยติดตั้งนี้ ถือเป็นเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดชุดแรกในประเทศไทย ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีให้กับ e-Banking ของธนาคารกสิกรไทย
โดยเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติรุ่นนี้ ถูกออกแบบให้มีช่องรับฝากธนบัตรได้มากถึง 100 ฉบับต่อครั้ง ซึ่งสามารถรับฝากธนบัตรได้สูงที่สุดในปัจจุบัน วิธีการฝากก็สะดวกรวดเร็ว เที่ยงตรงและปลอดภัย เพียงนำเงินที่ฝากใส่ลงในช่องฝากเงิน หลังจากนั้นเครื่องจะดำเนินการเองโดยอัตโนมัติ ในการตรวจสอบชนิดธนบัตร พร้อมปรับยอดบัญชีเงินฝากทันที โดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ของธนาคาร เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติรุ่นนี้ยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ทำรายการ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก เมื่อเริ่มกดคีย์บอร์ดรหัสส่วนตัว โดยเครื่องจะเข้ารหัสข้อมูลที่กดผ่านคีย์บอร์ดทันที
นอกจากนั้นเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ ยังได้รับการพัฒนาสู่แพลตฟอร์มแบบเปิด สามารถรองรับการทำธุรกรรมในอนาคตตามความต้องการของธนาคารได้
นายพัลลภ นาคพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ บิสซิเนส อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (ล็อกซบิท) กล่าวว่า ล็อกซบิทและไอบีเอ็ม ได้ร่วมกันเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีและประสิทธิภาพสูงสำหรับธุรกิจการเงินการธนาคารในไทย โดยเฉพาะเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติและเครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติของบริษัท ไอบีเอ็ม นับเป็นเครื่องที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีความเหมาะสมกับธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นธนาคารที่มีการพัฒนาบริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งได้ก้าวหน้าที่สุดธนาคารหนึ่งในประเทศไทย
โดยการติดตั้งเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติและเครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัตินี้ จะช่วยให้ลูกค้าของธนาคารสามารถเลือกทำรายการได้ด้วยตนเอง อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ลดเวลาการรอคิวหน้าเคาน์เตอร์ของธนาคาร ในขณะที่ธนาคารก็สามารถลดต้นทุนการให้บริการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคที่อิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งเป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการในธุรกิจธนาคารอย่างเช่นปัจจุบัน--จบ--
-อน-