กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมเวที ITRC และ IRCo's BoD ร่วมกันเสนอแนวทางมาตรการที่เป็นไปได้ในการเพิ่มราคายาง จากข้อมูล GDP ทั่วโลก และประเทศผู้ใช้ยางปรับตัวสูงขึ้น เน้นมาตรการระยะยาวเพื่อเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศผู้ผลิตเองให้มากยิ่งขึ้น ทั้งรัฐบาลไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย สามประเทศต่างมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดและราคายางว่าจะมีการปรับตัวตามปัจจัยพื้นฐาน ย้ำให้ความร่วมมือภายใต้กรอบของ ITRC เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยในฐานะผู้แทนประเทศไทย เผยว่า การประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) และคณะกรรมการบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ (IRCo's BoD) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มราคายางที่มีความผันผวนและปัจจัยทางการตลาดที่ส่งผลกระทบต่อราคายางธรรมชาติ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่าราคายางจะต้องดีกว่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกรชาวสวนยาง และอุตสาหกรรมยางพาราแก่ประเทศผู้ผลิตทั้ง 3 ประเทศ ที่ประชุมจึงได้เสนอแนวทางมาตรการที่เป็นไปได้ในการเพิ่มราคายาง โดยจากการวิเคราะห์เชิงลึก เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 แห่ง ซึ่งระบุว่า ตลาดล่วงหน้ามีปริมาณการขายที่สูงเกินไป กล่าวได้ว่า ในตลาดล่วงหน้าจะขายมากกว่าซื้อ เมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP ของประเทศผู้ใช้ยางเป็นบวกทั้งหมด คาดว่าความต้องการใช้ยางธรรมชาติในปีนี้จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า การเจริญเติบโตของ GDP โลกในปี พ.ศ. 2560 ในเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 3.5% สูงกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2560 โดยเฉพาะในประเทศผู้ใช้ยาง เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และอินเดีย GDP มีการปรับตัวสูงขึ้นที่ 3.2% ขณะที่ประเทศจีน ปีนี้คาดว่า GDP จะยังคงอยู่ที่ 6.7% ตามสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงของจีน เพราะในช่วงไตรมาส 1 และ 2 GDP ของจีนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อยู่ที่ 6.9% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 18 เดือน และด้านอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศผู้ใช้ยางเหล่านี้ทั้ง จีน ยุโรป และ ญี่ปุ่นมีการเติบโตขึ้นในทางบวกที่ 3.8% , 4.7% และ 9.2% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจัยแวดล้อมที่มีต่อผลผลิตยางในประเทศผู้ผลิต เช่น อินโดนีเซีย คาดว่า ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะถึง จะมีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดช้าลง ส่วนในประเทศมาเลเซียและไทยจะลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยทางสมาคมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติแห่งประเทศผู้ผลิต (ANRPC) คาดว่าจะมีการขาดดุลความต้องการซื้อยางธรรมชาติจากทั่วโลก
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ITRC และ IRCo จะยังคงติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มตลาดยาง ตลอดจนพิจารณามาตรการอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับราคายาง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศสมาชิก ITRC จะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการอุปสงค์และอุปทานให้สมดุล ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งประเด็นนี้ ประเทศสมาชิกต่างให้การสนับสนุนแผนงานของรัฐบาลไทยในการลดพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างถาวร ซึ่งจะเป็นการลดอุปทานของยางธรรมชาติประมาณ 360,000เมตริกซ์ตันต่อปีในอนาคตอันใกล้นี้
"ทั้ง 3 ประเทศสมาชิกจะดำเนินการพิจารณามาตรการระยะยาวเป็นหลักเพื่อเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศของแต่ละประเทศให้มากยิ่งขึ้น ทั้งการก่อสร้างถนน เขื่อนยาง ฯลฯ เป็นต้น โดยรัฐบาลของทั้งสามประเทศมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดยางและราคาว่าจะมีการปรับตัวตามปัจจัยพื้นฐานที่สะท้อนเหล่านี้ และที่สำคัญ จะให้ความร่วมมือภายใต้กรอบของ ITRC เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว"