กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
กระทรวงพลังงานระบุโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมเป็นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยเสริมระบบบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการระหว่าง 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มั่นใจไม่กระทบค่าไฟประชาชน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูง จะไม่คุ้มค่าในการร่วมลงทุนนั้น ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้ทางเลือกใดที่คุ้มค่าการลงทุนและเป็นประโยชน์ต่อ 2 ประเทศอย่างแท้จริง โดยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสตึงมนัม เมื่อรวมกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ อาจจะสูงกว่ากรณีผลิตไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว โดยกระทรวงพลังงานจะพิจารณาราคารับซื้อให้คุ้มค่า และจะไม่สูงเกินไป เนื่องจากส่วนหนึ่งเพราะเป็นโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อพิจารณาต้นทุนดังกล่าวกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า จะไม่กระทบอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาในประเด็นอื่น ๆ ร่วมกับผู้พัฒนาโครงการ เช่น สัดส่วนการลงทุน มูลค่าของโครงการเพิ่มเติมด้วย ในส่วนขั้นตอนการผันน้ำเข้ามาใช้ประโยชน์นั้น จะมีกรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดแนวทางเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำ และกรมชลประทานจะเข้ามาร่วมพิจารณาในรายละเอียดความเหมาะสมของเส้นทางการผันน้ำ การใช้เครือข่ายคลองและระบบส่งน้ำต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้ในช่วงที่ขาดแคลนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ โครงการ ฯ ดังกล่าวถึงแม้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าไม่มากนัก แต่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมาก
โดยเบื้องต้น กระทรวงพลังงานจะได้นำเสนอรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือ กพช. พิจารณาตามรายละเอียดตามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจโครงการพลังน้ำสตึงมนัม ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นโครงการแรกนับตั้งแต่ได้มีการลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) มาก่อนหน้านี้
? นอกจากนี้ ประเด็นการเจรจาซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินเกาะกง กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ และอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด ว่ามีความจำเป็นจะนำมาใช้ประโยชน์การเพิ่มความมั่นคงการผลิตไฟฟ้าในจำนวนเท่าใด และราคาค่าไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์ต่อราคาค่าไฟฟ้าของประเทศหรือไม่อย่างไร ซึ่งในหลักการกระทรวงพลังงานมีการเจรจาโครงการต่างๆ กับทั้งประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชาอยู่แล้ว แต่ในการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ กระทรวงพลังงานจะพิจารณาถึงเรื่องสัดส่วนประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ และราคาค่าไฟที่จะไม่กระทบประชาชน