กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่เปราะบางทางด้านสังคม การเมือง และศาสนา ซึ่งส่งผลกระทบมากมายต่อคนในพื้นที่ หนึ่งในกลุ่มนั้นคือแม่บ้านสตรีที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัว ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต้องปรับตัวอย่างหนักกับบทบาทที่เปลี่ยนไป จากเดิมหน้าที่แค่ดูแลความเรียบร้อยของสมาชิกในครอบครัว กลับกลายต้องมาเป็นหัวเรือใหญ่แบกรับภาระการหารายได้หลักเพื่อใช้จ่ายในบ้าน
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ภาวะความเป็นผู้นำ สร้างความภาคภูมิใจ รวมถึงสร้างอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา ที่มาจากภาษามาลายู แปลว่า "ผู้หญิง" สำนักงานอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ขับเคลื่อนโดย OXFAM ศูนย์นี้ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ในมิติทางสังคมและการเงินให้ชุมชนไปพร้อมๆ กัน เพื่อพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสภาวะแวดล้อมทางสังคมให้ดีขึ้น ด้วยเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
อลิญา หมัดหมาน ผู้จัดการโครงการศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา เล่าถึงที่มาให้ฟังว่า ศูนย์วานีตาขับเคลื่อน และเป็นเจ้าของโดยกลุ่มผู้หญิง และชุมชนที่ร่วมกันทำงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าควรมีการสร้างพื้นที่ในการสื่อสารที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราว วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงสินค้าที่มาจากกลุ่มอาชีพผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
อลิญาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตาปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 700 คน จากกลุ่มผู้หญิง 56 กลุ่มในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 ประเภท คือ อาหาร เช่น กือโป๊ะข้าวเกรียบปลาทอดกรอบ โรตีแช่แข็งสำเร็จรูป ทุเรียนทอดกรอบ ขนมรังนก หรือ ปลาหวานสมุนไพร สำหรับกลุ่มเครื่องแต่งกาย ประกอบไปด้วย เสื้อผ้าสตรีมุสลิม ผ้าคลุมไหล่ หรือผ้าคลุมผมสตรี ด้านเครื่องจักรสาน ก็จะมีเสื่อกระจูด เสวียนหม้อ กระเช้าใส่ของขวัญ และถาดดอกไม้ สำหรับผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจะมี การปักดอกผ้าละหมาด กระเป๋าผ้าทอญี่ปุ่น และกระเป๋าผ้าปาเต๊ะ
ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา อธิบายถึงบทบาทของวานีตาว่า จะมีอยู่ 4 เรื่องหลักๆ อย่างแรกก็คือเรื่องของการสร้างศักยภาพทางธุรกิจ โดยการจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มสมาชิกในการประกอบธุรกิจ เสริมทักษะต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การทำบัญชี การตลาด การสื่อสารกับผู้บริโภค การพัฒนาสินค้า รวมไปถึงการหาแหล่งทุน อีกทั้งยังพัฒนาผู้นำสตรีให้มีทักษะการนำเสนอ รู้จักการต่อรอง และมีความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ อย่างที่สองคือการเชื่อมต่อตลาด เนื่องจากวานีตาเป็นศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมที่ออกแบบเพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืน มีกระบวนการคัดเลือกสินค้าที่มีเอกลักษณ์ได้มาตรฐาน และช่วยสร้างพื้นที่ต่อยอดทางการตลาดรวมไปถึงช่องทางการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ ทั้งเว็ปไซต์และเฟสบุ๊ค เพื่อให้สินค้าของกลุ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
อลิญา พูดถึงการสร้างและเชื่อมเครือข่ายของศูนย์วานีตาว่ามีด้วยกัน 3 ระดับคือ 1.องค์กรด้านอาชีพในพื้นที่ ร่วมสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาชีพผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (Women Economic Empowerment หรือ WEE Forum) โดยการสะท้อนภาพเพื่อสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่ 2.เครือข่ายที่ปรึกษาอาสาสมัคร คือการรวมกลุ่มกันของคนที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ นักสื่อสารด้านการตลาด หรือเป็นเจ้าของธุรกิจที่สนใจประเด็นสังคมและอยากมีส่วนร่วม 3.ภาคเอกชนและกลุ่มผู้บริโภคเมือง ผ่านการให้ทุน บริจาค หรือฝึกอบรมทักษะต่างๆ เช่น การสื่อสารกับผู้บริโภคเมืองเพื่อขยายตลาด การประสานงานกับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการฝึกอบรมด้านอาชีพเพื่อต่อยอดด้านทักษะและตลาดให้แก่กลุ่มผู้หญิง ส่วนบทบาทสุดท้ายของวานีตาเป็นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพผู้หญิง โดยช่วยจัดการเงินทุน พร้อมส่งเสริมการออมและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านแนวคิดของสหกรณ์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์และช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานให้แก่คนในพื้นที่
โรสมาลิน กิตินัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กือโป๊ะตราดอกแก้ว จังหวัดปัตตานี เล่าว่า จากความสูญเสียลูกชายทำให้ชีวิตเหมือนเสียศูนย์ สภาพจิตใจย่ำแย่มาก พอได้มาเข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน มีหลายคนในกลุ่มที่สูญเสียและแย่ยิ่งกว่าเรา จึงทำให้กลับมามองดูตัวเองว่าต้องเดินไปข้างหน้า โดยสร้างกำลังใจและสร้างความเข้มแข็ง
โรสมาลิน บอกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มว่า สินค้ากือโป๊ะตราดอกแก้ว คำว่ากือโป๊ะเป็นภาษามาลายูที่แปลว่าข้าวเกรียบปลา เป็นอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นของยะลาและปัตตานี ได้เข้าไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำให้เป็นแท่งสแน็คจับง่ายและให้ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งคิดค้นรสชาติต่างๆ ให้มีความอร่อยถูกปาก นอกจากนั้นก็ได้ขยายตลาดช่องทางการจัดจำหน่าย โดยตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้จำหน่ายที่ทำการไปรษณีย์จำนวน 72 แห่งทั่วประเทศ และในอนาคตจะขยายเป็น 150 แห่ง นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายในร้านของฝากทั่วไปในจังหวัดปัตตานี และในกรุงเทพฯอีกด้วย
"หลังจากได้เข้าร่วมกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยวันละ 250-300 บาท มีเงินปันผลทุกๆ สิ้นปี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น พอมีเงินไปจุนเจือครอบครัว ส่วนผลกำไรของกลุ่มส่วนหนึ่งก็มีโอกาสนำไปช่วยเหลือสังคมให้กับผู้ที่ขาดแคลนหรือด้อยโอกาสที่ลำบาก เพราะเราเข้าใจหัวอกคนที่เดือดร้อนและสูญเสีย เราผ่านจุดนั้นมาก่อนย่อมรู้ดี ที่สำคัญนอกจากรายได้ที่เป็นส่วนที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว สภาพของจิตใจก็ได้รับการเยียวยาจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในกลุ่มด้วย เพราะเราปรึกษากันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ครอบครัว ทำให้เรารักกัน ผูกพัน และต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค์ไปด้วยกัน"
เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับงานด้านการพัฒนาควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตามวิสัยทัศน์"To Make the Capital Market work for Everyone" โดยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน และ ผู้ลงทุน คำนึงถึงประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อมและบรรษัทภิบาล และยังได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงบริษัทจดทะเบียนกับภาคสังคมผ่าน SET Social Impact Platform เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งหมายถึงการนำทรัพยากรขององค์กรมาลงทุน โดยไม่ได้หวังแต่เพียงผลกำไร แต่ยังมุ่งสร้างผลลัพธ์ ทางสังคมไปควบคู่กัน ซึ่งภาคธุรกิจสามารถทำได้โดยการนำทรัพยากร ได้แก่ เงินทุน หรือความรู้ความสามารถ การให้สถานที่หรือช่องทางจำหน่ายสินค้า เป็นต้น มาสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม
"โครงการศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา เป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่มีความชัดเจน ถึงวัตถุประสงค์ที่มุ่งจะมีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหาสังคม การดำเนินงานของวานีตานั้นมีแผนการทำงานที่ชัดเจน มีการส่งเสริมศักยภาพให้สมาชิกกลุ่ม อย่างต่อเนื่อง จนมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี มีความมั่นใจ ในการก้าวไปข้างหน้า เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน ปัจจุบันทางกลุ่ม มีแผนที่จะจดทะเบียนเป็นกิจการเพื่อสังคม ซึ่งบริษัทต่างๆ ที่มองเห็นปัญหาสังคมในเรื่องนี้และประสงค์อยากจะมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม วนีตา และสตรีทางภาคใต้ ให้สามารถพึ่งพาจนเอง ขอเชิญมาทำความรู้จักและผสานความร่วมมือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และอาชีพ ของพี่น้องทางภาคใต้ให้ดีขึ้น"
ภายใต้ SET social Impact Platform ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคมในด้านอื่นๆ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาชุมชน การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผู้ด้อยโอกาส บริษัทที่ต้องการเชื่อมโยงหาพันธมิตรแก้ไขปัญหาสังคม เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกับการทำธุรกิจ สามารถเข้าไปดูข้อมูลภาคธุรกิจ และภาคสังคม ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ ได้ที่ www.setsocialimpact.com หรือ FB: SET Social Impact