อย.ออกประกาศฯ ปรับค่าธาตุน้ำนมแก้ปัญหานมผงผสมนมสด

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2001 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--อย.
อย.แก้ไขปัญหาผู้ประกอบการนำนมผงผสมนมสด ออกประกาศฯ ฉบับที่ 218 ปรับค่าธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยในนมสดจาก 8.5 เป็น 8.25 หวังดึงผู้ประกอบการใช้น้ำนมดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบ ช่วยแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด โดยผู้ประกอบการต้องแจ้งในฉลากอย่างชัดเจนว่าผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นนมชนิดใด เพื่อประโยชน์ในการเลือกซื้อของผู้บริโภค
ภญ.พรพิมล ขัตตินานนท์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการแสดงฉลากของนมพร้อมดื่มไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เนื่องจากมีการใช้นมผงผสมในนมสดและระบุบนฉลากว่าเป็นนมสดร้อยเปอร์เซนต์นั้น อย.ได้พิจารณาแล้วพบว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการใช้นมผงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมาผสมในนมสดพร้อมดื่มก็เพื่อปรับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 26 พ.ศ.2522 ซึ่งกำหนดคุณภาพน้ำนมให้มีธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนย (Solid Non Fat : SNF) ไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.5 โดยน้ำหนักค่าที่กำหนดไว้ดังกล่าวมีความเหมาะสมในขณะนั้น แต่ต่อมา การเลี้ยงโคนมในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องของสายพันธุ์ และสภาพแวดล้อม ทำให้ค่าเฉลี่ยของธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยในน้ำนมดิบทั่วประเทศขณะนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3 จึงเป็นผลให้ผู้ประกอบการต้องใช้นมผงจากต่างประเทศมาผสมในนมพร้อมดื่ม เพื่อปรับค่าธาตุน้ำนมให้เป็นไปตามประกาศฯ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการแสดงสูตรส่วนประกอบบนฉลากว่า "นมสด 100%" ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่ามีการใช้นมสดทั้งหมดในสูตรส่วนประกอบ เป็นการเสียสิทธิในการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการผลิตน้ำนมโคภายในประเทศ และเพื่อส่งเสริมมาตรการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 218) พ.ศ.2544 เรื่อง กำหนดนมโคเป็นอาหารควบคุมเฉพาะและกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและวิธีการผลิต (ฉบับที่ 3) ปรับให้นมสดมีธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 8.25 ของน้ำหนัก และมีมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.2 ของน้ำหนัก ซึ่งการออกประกาศฯปรับค่าธาตุน้ำนมนี้ อย.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบโดยอาศัยข้อมูลประกอบเพิ่มเติมทั้งในด้านผลกระทบต่อคุณค่าทางโภชนาการ และมาตรฐาน รวมทั้งข้อกำหนดของประเทศต่างๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น กำหนดค่าธาตุน้ำนมไว้ที่ร้อยละ 8.0 ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.25 เป็นต้น ที่สำคัญ การปรับค่าธาตุน้ำนมนี้ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด เนื่องจากผู้ผลิตนมพร้อมดื่มสามารถใช้น้ำนมดิบภายในประเทศเป็นวัตถุดิบ โดยไม่ต้องใช้นมผงมาช่วยปรับค่าธาตุน้ำนม อีกทั้งจะได้ไม่เป็นข้ออ้างของผู้ประกอบการในการเติมนมผงผสมให้ได้ธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยตามที่กฎหมายเดิมกำหนด ทั้งนี้ ผู้ผลิตนมพร้อมดื่มจะต้องแจ้งในฉลากอย่างชัดเจนว่า นมพร้อมดื่มนั้นผลิตจากน้ำนมดิบหรือนมสด นมผงขาดมันเนยหรือนมคืนรูป หรือผลิตโดยส่วนผสมระหว่างนมสดกับนมคืนรูป เพื่อประชาชนจะได้รับทราบส่วนประกอบของนมตรงตามข้อเท็จจริง และได้เลือกซื้อนมตามประเภทที่ต้องการอีกด้วย
ภญ.พรพิมล ขัตตินานนท์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของนมพร้อมดื่มนั้น ผู้บริโภคไม่ต้องเป็นห่วง เนื่องจาก อย.มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิต โดยมีโครงการยกระดับมาตรฐานการผลิตนมพร้อมดื่มแบบครบวงจรทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งในโครงการนี้มีการให้ความรู้ด้านหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตกับผู้ประกอบการ การตรวจประเมินสถานที่ผลิต มีหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ในการเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานของนม และมีการผลิตสื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 นี้ ผู้ผลิตนมพร้อมดื่มทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) อีกด้วย โดยรายใหม่ต้องปฏิบัติทันที ส่วนรายเก่าให้เวลาปรับปรุงสถานที่ผลิตอีก 2 ปี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กนักเรียนในโครงการนมโรงเรียนได้บริโภคนมพร้อมดื่มที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอแน่นอน--จบ--
-นห-

แท็ก นมสด   ฉลาก   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ