กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สสส.
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ได้จัดเวทีสรุปผลการดำเนินงานชุดโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปี 2 "ร้อยภาคี รวมพลังชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง)ใหญ่" นำเสนอผลการดำเนินงาน บทเรียนรู้ ตัวอย่างชุมชนจักรยาน ซึ่งเป็นผลผลิตจากชุดโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ 2 โดยมีชุมชนจักรยานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจาก 10 จังหวัด ได้เดินทางมาแสดงผลงาน พร้อมถ่ายทอดแนวคิด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับชุมชนจักรยานอื่นๆ ทั่วประเทศ
โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวถึง การขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนจักรยานถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต ปรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและจำเป็นต่อชุมชน รวมทั้งการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์การใช้จักรยานในชุมชน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย และภาคีในแต่ละพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการสร้างชุมชนจักรยาน สนับสนุนให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จนก่อให้เกิดชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะกว่า 99 พื้นที่ ใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ
ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดชุมชนจักรยานที่ประสบความสำเร็จ พบว่ามี 4 องค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้นำท้องถิ่นร่วมสนับสนุน ชุมชนขานรับ หน่วยงานภาครัฐเห็นดี และภาคีใส่ใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน ทำให้ผู้ใช้จักรยานรู้สึกถึงความปลอดภัย และใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศในการเพิ่มกิจกรรมทางกายของคนอายุ 11 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 80% ภายในปี 2564
สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญ โครงของการนี้ คือการมีแผนงานเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่นโยบายท้องถิ่น โดยแต่ละชุมชนมีทุนด้านต่างๆ ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่มีทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น บางพื้นที่มีการเชื่อมร้อยบูรณาการงานได้ดี บางพื้นที่คิดค้นนวัตกรรมทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนโครงการอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแม้จะมีทุนต่างกัน แต่ยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเกิดความยั่งยืน ชุมชนต้องสามารถนำแผนงานส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเข้าสู่การรับรู้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐในพื้นที่ ให้หน่วยงานนำแผนงานที่เป็นรูปธรรมเข้าไปอยู่ในนโยบายและแผนงานของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง รวมถึงสามารถระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
โดยเวทีนำเสนอ 5 ตัวอย่างชุมชนที่มีแผนงานเป็นรูปธรรม สู่นโยบายท้องถิ่น สร้างกระแสการรับรู้จนได้รับการยอมรับ นำไปสู่แผนงานที่เป็นรูปธรรมเข้าไปบรรจุอยู่ในพันธกิจและนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่
1. เทศบาลเมืองชัยภูมิชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ใช้กระบวนการสร้างความร่วมมือ กับผู้ใช้พาหนะอื่นๆ ให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถนน ด้วยการควบคุมความเร็ว ลดความเร็วในการใช้รถใช้ถนน ใช้อาสาสมัครจิตอาสา เข้าไปพูดคุยแบบเคาะประตูบ้าน เกิดแผนการรณรงค์ส่งเสริมการใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในทุกกิจกรรมของเทศบาล และยังเกิดแผนชักชวนการใช้จักรยานทุกช่วงวัย อาทิ กิจกรรม "เยาวชนวัยใส หัวใจนักพัฒนา" ที่เด็กและเยาวชนรวมตัวใช้จักรยานทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน และกิจกรรม "นักปั่นพันปี" กลุ่มผู้สูงอายุรวมตัวปั่นจักรยาน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ทำให้มีภาคีเข้ามาร่วมทำงานขับเคลื่อนโครงการตามพันธกิจ และนโยบายของเทศบาลเมืองชัยภูมิ
2. ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส รณรงค์ให้คนมุสลิมใช้จักรยานมาละหมาด แล้วขยายผลสู่กิจกรรมอื่นๆ เช่น ใช้จักรยานออกไปวงน้ำชายามเช้า ชวนชาวบ้านปั่นมาดื่มน้ำชาร่วมกันที่ อบต.ยามเช้า มานั่งคุยกันเรื่องงานทั่วไป และงานพัฒนาของตำบล รวมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร อบต.หันมาใช้จักรยานในการลงพื้นที่ ทำให้เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ในที่สุดแผนงานการขับเคลื่อนชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลบาเจาะ ได้รับการบรรจุเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อบต.บาเจาะ
3. โครงการหนองออนรวมใจใช้จักรยานเพื่อสุขภาวะ ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จึงเกิดเป็นกองทุนจักรยานจัดซื้อจักรยานมือสองที่ดีราคาถูกจำนวน 100 คัน ประชาชนสามารถผ่อนชำระได้ และทางเทศบาลประกาศให้ทุกวันพุธเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองแกน ตลอดจนครู นักเรียน และแกนนำในชุมชน มีการใช้จักรยานในการเดินทาง และขยายผลอย่างยั่งยืนด้วยการทำงานกับคนทุกกลุ่ม เกิดเป็นโครงการโรงเรียนจักรยาน เพื่อให้คนในชุมชนทุกกลุ่มวัยสามารถใช้จักรยานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
4. โครงการตำบลม่อนปิ่นร่วมใจปั่นจักรยานเพื่อสุขภาวะ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ใช้พลังของคนชุมชนในการขับเคลื่อน โดยแกนนำชุมชนเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ชักชวนประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ให้กลุ่ม อสม.ติดตามสุขภาพของผู้ใช้จักรยานเทียบกับก่อนใช้, โครงการปั่นลดการเผา 60 วันเราทำได้, โครงการปั่นเพื่อสุขภาพ หมู่บ้านปลอดขยะ เป็นต้น ซึ่งเป็นการบูรณาการจักรยานเชื่อมโยงกับงานพัฒนาชุมชนของหน่วยงานในท้องถิ่นได้จริง
5. ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลหนองแวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด มีองค์การบริหารส่วนตำบลแวงเป็นแกนนำในการสร้างการรับรู้ประโยชน์ของการใช้จักรยานกับคนในพื้นที่ เน้นทำงานกับเด็กและเยาวชน สร้างแกนนำนักประชาสัมพันธ์ตัวน้อย นำนักเรียนจาก 7 โรงเรียนในพื้นที่ทำหน้าที่สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้ประโยชน์ของการใช้จักรยาน รวมถึงสร้างแกนนำชาวบ้านเพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ และเข้าร่วมจัดกิจกรรมปั่นรณรงค์อย่างสม่ำเสมอ
ด้านนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า การจัดเวทีชุมชนในครั้งนี้นอกจากนำเสนอผลงานของชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้ออกแบบ เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของงานที่เขาภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอผลงานที่เขาร่วมกันทำผ่านมาตลอดปี นับเป็นความสำเร็จของโครงการที่ต้องการส่งเสริม สนับสนุน แลพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้จัดการชุมชน พื้นที่ของตนเองได้
ในเวทีชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานของชุมชนต่างๆ มากกว่า 10 ชุมชน ได้แก่ (1) เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย นำเสนอจัดการให้จักรยานสอดประสานเข้ากับวิถีวัฒนธรรมของเก่า ชุมชนเก่าไทพวน ที่เอื้อต่อการใช้จักรยานเพื่อเดินทางของชาวชุมชนหาดเสี้ยว (2) ชุมชนป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน จัดการสิ่งแวดล้อมให้สิ้นซาก เอาถาดเก่าเหลือใช้ผลิตเป็นป้ายสัญลักษณ์ถนนปลอดภัยคนเดิน-คนปั่น (3) หนองไม้แก่น ยกทัพพระมาทั้งวัด นำแนวคิดบ้าน วัด โรงเรียน หลักการง่ายๆแต่เต็มได้ด้วยพลัง ผลงานโดดเด่น คือ บิณฑบาตจักรยาน คลินิกจักรยาน ธนาคารจักรยาน (4) บ้านบุ่งเข้ จ.นครนายก เขานำเสนอวิธีการถีบเพื่อเปลี่ยน (5) ชุมชนจักรยานตาขัน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีไอเดียร้านค้าชุมชนปั่นจักรยานมาซื้อ-ลดให้ สร้างจูงใจในชุมชน มีสมาชิกเกือบเต็มชุมชน (6) เทศบาลเมืองชัยภูมิ ขนเรื่องวิถีคนเมืองเก่าพันปีหนุนเยาวชนวัยใสอาสาปั่นพัฒนาชุนชน เกิดอาสาสมัครชุมชนชวนคนออกมาใช้จักรยาน "นักปั่นพันปี" กลเม็ดสร้างความใกล้ชิดชุมชนกับเทศบาล (7) ชุมชนเล็กๆในเทศบาลตำบลบ้านฝาง อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ทำอย่างไรให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมได้อย่างนี้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากเริ่มต้นต้องการแค่จักรยานแจก จนวันนี้มีวิทยากรน้อยแนะนำเรื่องการใช้จักรยาน สร้างเด็กให้เป็นผู้นำ (8) ชุมชนตำบลหายโศก อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ จัดการให้คนแก่ในชุมชน ที่เดินเหินลำบาก ไปไหนมาไหนได้อีกครั้งด้วยจักรยานซาเล้ง สร้างความมีชีวิตชีวาให้คนสูงวัยให้หัวใจได้เบิกบานอีกครั้ง (9) ชุมชนจักรยานนาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง "จักรยาน 3 วัย สานพลังครอบครัวอบอุ่น" เพิ่มกิจกรรมร่วม ลดพฤติกรรมเสี่ยง สร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ชุมชน และ (10) ชุมชนจักรยานที่ตำบลเจริญผล อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ต้นแบบผู้นำใช้ ชุมชนใช้ตาม สัญลักษณ์ของนายกคือ"จักรยานคันใหญ่" แสดงให้เห็นถึงการรวมพลังปั่นไปด้วยกันสร้างสรรค์ชุมชน
คุณเพ็ญจันทร์ บุญถึง แกนนำชุมชนเพื่อสุขภาวะตำบลหายโศก อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงความภูมิใจที่ได้มีร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 56 และปัจจุบันกับนวัตกรรม "จักรยานซาเล้ง หายโศกสร้างสุข" จักรยานแม่บ้าน 3 ล้อเพื่อผู้สูงอายุได้เดินทาง "จากเดิมชุมชนเรามีผู้สูงอายุ และผู้พิการ ที่ไม่สามารถใช้จักรยานได้ ต้องพึ่งพารถเข็นน้ำในการเดินทาง แต่พอมีโครงการนี้เข้ามา มีแบบแผนที่ชัดเจน มีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง เราก็ได้สร้างนวัตกรรมนี้ขึ้น "จักรยานซาเล้ง หายโศกสร้างสุข" ได้ใช้ประโยชน์ ปั่นออกเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ปั่นไปโรงเรียนผู้สูงอายุ เยี่ยมเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น ไม่เหงา มีสุขภาพชีวิตที่ดี ได้รับความสะดวกสบาย มีพาหนะใช้ในชีวิตประจำวัน เดินทางได้คล่องตัว ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และยังปลอดภัยอีกด้วย"
คุณมณี เสียงศักดิ์ ประธานชมรมจักรยาน เพื่อสุขภาวะตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน รู้สึกดีใจ ที่ชุมชนของเรารู้จักการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการนำวัสดุเหลือใช้ มาทำป้ายสัญลักษณ์ถนนปลอดภัยผู้เดิน-ปั่นจักรยาน
"แรกเริ่มเรามีชมรมจักรยานอยู่แล้ว โดยรวบรวมผู้สูงอายุ เยาวชน อสม.ในชุมชน มาร่วมกันปั่นออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และเรายังรณรงค์ให้นักเรียนใช้จักรยานมาโรงเรียน แล้วตั้งเป็นชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ ซึ่งโครงการนี้มีประโยชน์รอบด้าน นอกเหนือจากสุขภาพคือ เพื่อความสามัคคีกันในชุมชนของเรา หันมาห่วงใยสุขภาพซึ่งกันและกัน ชวนผู้สูงวัยมาออกกำลังกายกัน พอ สสส.เข้ามาร่วม ชุมชนของเรา ก็มีถนนที่น่าปั่นจักรยาน เราจึงหันมาเน้นเรื่องความปลอดภัย เอาสิ่งของเก่ามา recycle เช่น โต๊ะเก่า ถาดเก่าๆ ของเหลือใช้อื่นๆ นำมาทำเป็นป้ายสัญลักษณ์บอกความปลอดภัย ซึ่งตอนนี้เราได้ขยายออกไปทุกจุดในหมู่บ้าน ในซอยต่างๆ ซึ่งเราได้ขยายไปครบทุกจุดแล้วครับ"
นอกจากนี้ ในเวทีฯ ได้รับความสนใจจากภาคส่วนอื่นๆ เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่พร้อมให้การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดินหน้าเรื่องนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น เห็นว่าหากมีการสนับสนุนให้เกิดงานเชิงวิจัยในชุมชนร่วมด้วย จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ชุมชนที่สามารถพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต