กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ธ.ไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่รายงานจับกระแสเศรษฐกิจเรื่อง ประเมินสถานการณ์ราคาและการค้าทองคำในประเทศ โดยสำนักวิจัยประเมินว่า ราคาทองคำในประเทศในช่วงปลายปี 2548 ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก ทั้งนี้คาดว่าราคาจำหน่ายทองรูปพรรณจะทะยานสู่ระดับ 9,000 — 9,300 บาท ต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาทภายในปี 2548 จากราคาจำหน่ายทองรูปพรรณเดือนสิงหาคมเฉลี่ยที่ประมาณ 8,800 บาท ต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท โดยเป็นการปรับตัวตามราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางและภูมิภาคต่าง ๆ ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในระยะสั้นราคาทองคำในตลาดโลกอาจจะผันผวนและปรับตัวลดลงบ้างจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดว่าราคาทองคำจะเคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่าระดับ 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพราะยังมีความต้องการทองคำค่อนข้างสูงของนักลงทุนและกลุ่มผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ
สำนักวิจัยมีความเห็นว่าสถานการณ์การจำหน่ายทองคำในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังจะถูกกดดันจากการที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการบริโภคสินค้ามากขึ้น เพราะการสูงขึ้นของค่าครองชีพ ทำให้การซื้อทองเพื่อเป็นของขวัญหรือเป็นของสะสมมีแนวโน้มลดลง ในขณะเดียวกันการซื้อทองคำเพื่อการเก็งกำไรของผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณร้อยละ 0.25 — 0.50 ในช่วงปลายปี 2548 รวมทั้งราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งปีหลัง
ทางด้านสถานการณ์การแข่งขันของร้านค้าทองในประเทศ สำนักวิจัยมีความเห็นว่า ในช่วงครึ่งปีหลังการแข่งขันของร้านค้าทองจะยังคงทวีความรุนแรง เนื่องจากจำนวนร้านค้าทองที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายสาขาเข้าไปในแหล่งชุมชนและย่านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า และดิสเคาน์สโตร์ เพื่อเข้าถึงและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ประกอบกับราคาทองรูปพรรณในปัจจุบันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นปีถึงประมาณร้อยละ 8 - 10 และเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทองต้องปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการแข่งขัน
สำหรับการนำเข้าทองคำ สำนักวิจัยมองว่า การนำเข้าทองคำในช่วงครึ่งปีหลัง จะชะลอตัวลงจากในครึ่งปีแรก และคาดว่าการนำเข้าทองคำในปี 2548 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 50 — 60 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 67.2 ในช่วงครึ่งปีแรก เพราะการนำเข้าครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลง เนื่องจากผู้ประกอบการได้นำเข้าทองคำเป็นจำนวนมากในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเพื่อการเก็งกำไร จากการที่ราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงมากในบางช่วงของครึ่งปีแรก ในขณะที่ครึ่งปีหลังราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประมาณ 433 - 440 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในปัจจุบัน เทียบกับราคาเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2548 ที่ 424 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ รวมทั้งการจำหน่ายทองรูปพรรณในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักวิจัย ไทยธนาคาร โทร 02-638-8406 — 9--จบ--