กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นจังหวัดแรกและเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากพบว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบจากฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 จำนวน 56,606 คน โดยสูงเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร มีมูลหนี้นอกระบบรวมเป็นเงิน 3,291 ล้านบาท หรือมีมูลหนี้เฉลี่ย 58,138.71 บาทต่อคน
ในการดำเนินโครงการ กระทรวงการคลังได้ประมวลรายชื่อผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในจังหวัดนครราชสีมา จากฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ส่งให้กับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ติดต่อนำลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายมาเข้าสู่กลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย การให้คำปรึกษา ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ พิจารณาช่วยเหลือด้านสินเชื่อ และดูแลฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ ซึ่งเป็นการใช้กลไกการทำงานของจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ณ สาขาธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ร่วมกับการทำงานของคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดนครราชสีมา และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 กระทรวงการคลังได้จัดงานเปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดนครราชสีมา ณ ห้องประชุมวี - วัน 1 - 2 โรงแรมวี - วัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยจัดให้มีการอบรมและกิจกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการช่วยเหลือด้านสินเชื่อตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้น ให้ได้รับการต่อยอดการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร ในด้านการเสริมสร้างวินัยทางการเงินและการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม โดยในช่วงเช้ามีกิจกรรมประกอบด้วย การให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบและแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. บริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับหนี้นอกระบบของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา บริการข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และการเตือนภัยทางการเงินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมถึงกิจกรรมสาธิตอาชีพ 7 อาชีพ และในช่วงบ่าย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "แนวนโยบายของรัฐบาลในการขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์" เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล ตลอดจนมีการอบรมความรู้พื้นฐานทางการเงิน ในหัวข้อ การจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยนางสาวอรจิรา เนตรอารีย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ การตลาด และพัฒนาลูกค้าองค์กรชุมชน ธนาคารออมสิน และหัวข้อ "แนวทางการหารายได้เสริม" โดยนายทูลทองใจ ดวนใหญ่ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาห้วยทับทัน และนายศราวุฒิ ยงกุล ผู้แทนเกษตรกร
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 12 ราย และมอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 310 ราย เป็นวงเงิน 12.83 ล้านบาท โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้บริหารธนาคารออมสิน และผู้บริหาร ธ.ก.ส. ร่วมเป็นสักขีพยาน
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นวาระแห่งชาติ และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่จะขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์โดยเร็ว จึงขอบคุณหน่วยงานภาคีที่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบร่วมกับกระทรวงการคลังมาโดยตลอด และมอบหมายให้ทุกภาคส่วนเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกจังหวัดและต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีหนี้นอกระบบติดต่อขอรับความช่วยเหลือเกี่ยวกับหนี้นอกระบบได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมซึ่งจะมีการส่งต่อลูกหนี้นอกระบบไปยังธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มเติมให้ครบวงจรในด้านสินเชื่อ การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ และการฟื้นฟูศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้เน้นย้ำว่า ลูกหนี้นอกระบบที่ได้รับสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินไปแล้ว จะต้องรักษาวินัยในการชำระหนี้โดยยึดหลักเมื่อเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ รวมถึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับปัญหาทางการเงิน และกระทรวงการคลังมุ่งหวังให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยปลอดจากภาระหนี้นอกระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การมีรายได้เพียงพอ มีเงินออม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป