กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ จำกัด ("บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ") เกิดจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์เพียงผู้เดียวเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ในเวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทของเรารวมไปถึงโลกใบนี้ จะเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปมากขนาดไหนบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ จำกัด ("บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ") ดำเนินงานใน 30 ประเทศทั่วโลก และเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นที่ดำเนินงานที่ครอบคลุมทั่วโลกทำให้เรามีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในด้านความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนบนโลกของเรา ด้วยเหตุนี้ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะจึงสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในด้าน "การดำรงชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ" "ทรัพยากรอาหาร" และ "ความยั่งยืนระดับโลก" ด้วยการใช้ "ผลิตผลร่วม" และกรดอะมิโนต่าง ๆ
เราจะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารทั่วโลกได้อย่างไร
นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยได้เตือนเรื่องวิกฤตการณ์อาหารที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และโชคไม่ดีที่ข้อมูลบ่งชี้ว่าภัยคุกคามดังกล่าวเป็นเรื่องจริง รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ประจำปี 2560 ระบุว่าประชากรโลกมีจำนวนถึง 7 พันล้านคนแล้ว และคาดว่าจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งบ่งบอกถึงภัยคุกคามที่สูงขึ้นในการขาดแคลนอาหารปริมาณมาก
ซึ่งปัญหานี้มีแนวโน้มจะแย่ลงไปอีก เพราะในความเป็นจริงแล้วคาดว่าผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง สาเหตุของเรื่องนี้เกิดจากคุณภาพดินเสื่อมลงเนื่องจากขาดการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การอพยพของประชากรจากชนบทเข้าสู่เมืองอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การละทิ้งพื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่อุดมสมบูรณ์ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพื้นที่แห้งแล้งเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และเทคนิคการเพาะปลูกที่ไม่ยั่งยืน
ในบริบทนี้ สิ่งที่โลกต้องการอาจเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุผล แต่อย่างน้อยก็มีความชัดเจน ซึ่งได้แก่ การปกป้องพื้นที่เพาะปลูก การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และการเพิ่มผลผลิตทางปศุสัตว์อย่างยั่งยืน และที่บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ เราเชื่อว่าบริษัทอาหารระดับโลกอย่างเราจะต้องสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้อย่างกระตือรือร้น
บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะได้ขจัดแนวคิดเกี่ยวกับ "การทิ้ง"
คำว่า "ของเสีย" ในภาษาไทยหมายถึง "สิ่งใดก็ตามที่ถูกทิ้งไป" แต่ก็อาจหมายถึง "การเสียโอกาส" ด้วย
เมื่อใดก็ตามที่ผลิตสิ่งหนึ่งขึ้นมา ก็ย่อมสร้างผลิตผลพลอยได้ขึ้นมาด้วย ที่บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ เราเรียกผลิตผลเหล่านี้ว่า "ผลิตผลร่วม" และเราพยายามหาทางที่จะนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับโลกของเรา
กรณีศึกษาจากคิวชู: ของเสียเน่าเหม็น!
การทำปุ๋ยหมักเป็นวิธีการหนึ่งที่รู้จักกันมากที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ปัญหาเพียงอย่างเดียวก็คือ กลิ่นเหม็น การย่อยสลายทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เป็นเวลาหลายปีที่โรงงานของเราในคิวชูสร้างปุ๋ยเม็ดโดยใช้ผลิตผลร่วมจากกระบวนการหมักกรดอะมิโน แม้ว่าวิธีการนี้จะลดของเสีย แต่ปุ๋ยเม็ดจะต้องใช้น้ำมันหนักในการตระเตรียม ซึ่งอาจกลายเป็นผลิตภัณฑ์ของเสียอีกอย่างหนึ่ง แต่เราก็ค้นพบอีกวิธีหนึ่ง ด้วยการผสมปุ๋ยเม็ดกับปุ๋ยหมักที่ผลิตจากฟาร์มท้องถิ่น จะช่วยให้ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันหนัก เราสามารถประหยัดน้ำมันได้ถึง 600 กิโลลิตรต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 2,000 ตัน โครงการนี้ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์ ปุ๋ยหมักที่ได้นอกจากจะมีกลิ่นดีขึ้นแล้ว ยังใช้ได้ผลดีกว่าเดิมด้วย เพราะช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น อาจกล่าวได้ว่านี่คือ "ประโยชน์" ของโลก เพราะลดการใช้น้ำมันหนักและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้อย่างยั่งยืน
กรณีศึกษาจากประเทศไทย: การผูกพันกับผลประโยชน์ของท้องถิ่น
เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มอบผลิตผลร่วมให้แก่เกษตรกรที่ทำงานใกล้โรงงานของเราในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ บริษัทสาขาของเราในพื้นที่ของเกษตรกรเหล่านี้ คือบริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ("เอฟดีจี") ยังได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชผลคุณภาพสูงที่เพิ่มมูลค่าด้วย จากนั้นเอฟดีจีก็จะซื้อพืชผลเหล่านี้จากเกษตรกรในท้องถิ่นเพื่อมาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ของเรา นับเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างเอฟดีจีกับเกษตรกรท้องถิ่นชาวไทยเช่นนี้ทำให้เกิดผลผลิตคือ:
· เมล็ดกาแฟจำนวนร้อยละ 30 ถูกใช้ในการผลิตกาแฟกระป๋อง Birdy®
· กะหล่ำปลีสำหรับทำเกี๊ยวซ่าที่ผลิตโดยบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ โฟรเซ่นฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
· น้ำมันดอกทานตะวันที่มีกรดโอเลอิกสูงสำหรับใช้ทำขนมญี่ปุ่น
เราเพิ่งจะเริ่มต้น
กรณีศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นตัวอย่างเพียงบางส่วนว่าบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะสบับสนุนอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกของเราอย่างไร และเรามองหาโอกาสสร้างประโยชน์ให้แก่โลกมากขึ้นอยู่เสมอ โดยเริ่มต้นจากชุมชนที่เราดำเนินงานอยู่