กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เปิดเวทียิ่งใหญ่ดึงนักสะสม ชั้นนำของเมืองไทย นำของรัก ของหวง ของสะสมงานศิลปหัตถกรรมบรรพชนล้ำค่า เผยแพร่ให้ร่วมชื่นชม ในงานเสวนา "หัตถกรรมของบรรพชน ของรักของหวง รักษาไว้ให้ถึง ลูกหลาน" มุ่งหวังถ่ายทอดประสบการณ์ในงานสะสม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจกลุ่มนักสะสม และผู้รักงานศิลปหัตถกรรม ณโรงแรม แมนดาริน โอเรียลเต็ล
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT มีบทบาท ในด้านการส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรม และส่งเสริมการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์สู่ความร่วมสมัย และเชิงพาณิชย์ เห็นถึงความสำคัญการเผยแพร่องค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมแห่งบรรพชนที่สะท้อนถึงซึ่งภูมิปัญญาทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงช่างที่มีการสะสมไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนักสะสมแห่งสยาม จึงได้จัดกิจกรรมเสวนา "หัตถกรรมของบรรพชน ของรัก ของหวง รักษาไว้ให้ถึง ลูกหลาน" ขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนักสะสม ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปหัตถกรรมได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายทอดแรงบันดาลใจ และแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งผลงานบางชิ้นมีอายุเกินกว่า 200 ปี และบางชิ้นเป็นงานระดับชิ้นเอก (Masterpiece) ของนักสะสมที่อาจไม่เคยนำมาเผยแพร่ที่ใดมาก่อน
ในโอกาสนี้ SACICT ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ นักสะสม ที่เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม มาถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา ความสำคัญ รวมถึงความแตกต่างของงานศิลปหัตถกรรมในแต่ละยุคสมัย จำนวน 6 ท่าน ได้แก่ ครูเสน่ห์ แจ่มจิรารักษ์ ครูศิลป์ของแผ่นดินงานเครื่องมุก ครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน งานผ้ายก-ศิลปะสมัยอยุธยา ครูมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์แห่งแผ่นดินงานผ้าทอ ครูวิรัช ปิ่นสุวรรณ ครูศิลป์แห่งแผ่นดินงานเครื่องเบญจรงค์ ครูดิเรก สร้อยสีดา ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานสลักดุน ครูอุทัย เจียรศิริ ครูช่างหัตถกรรมงานเครื่องถม-คร่ำ
นอกจากนี้ SACICT ยังได้เชิญนักสะสมชื่อดังของเมืองไทย มาถ่ายทอดเรื่องราวความน่าสนใจ เสน่ห์ที่ดึงดูดของงานศิลปหัตถกรรมตั้งแต่รุ่นปู่ย่ามาจนถึงรุ่นปัจจุบัน อีกกว่า 10 ท่าน ได้แก่ นายกฤษณ์ โรจนะเสนา นักสะสมงานเครื่องเงิน – สลักดุน แบบราชสำนัก ที่มีการใช้งานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ นายศักดิ์ชัย กาย นักสะสมงานเครื่องดนตรีประเภทซอที่แกะสลักจากกะลามะพร้าว อาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม งานสะสมงานหัตถกรรมโบราณ – เครื่องเงิน ผ้าทอและจักสาน นายปัญญา พูนศิลป์ นักสะสม ผ้าโบราณและของใช้
โบราณวัตถุของภาคใต้ นางศิริลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ไม้ไทย นักสะสมเครื่องกระเบื้องและ เครื่องเงินจากทั่วโลก นายเนธิชัย ปานสุวรรณ นักสะสมชิ้นงานกระเบื้องประเภทจานเชิงเขียนลายสีน้ำเงินบนพื้นขาว (กระเบื้องลายคราม) นายพิพัฒน์พงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา นักสะสมเครื่องมุกโบราณ นายสมคิด เจริญธุระยนต์ นักสะสมงานเครื่องแก้วเจียรนัยทั้งของโบราณของไทย และจากนานาประเทศ รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ นักสะสมงานเครื่องถมโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ นายชาย มีจำรัส นักสะสมงานกริซโบราณ ทุกยุค ทุกสมัย เป็นผู้ที่สะสม กริซ มากที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย
นางอัมพวัน กล่าวเสริมว่าการจัดงานในครั้งนี้ มิได้เป็นเพียงการสร้างความตื่นตา ตื่นใจในผลงานที่เป็นของรัก ของหวง เป็นสมบัติอันล้ำค่าของนักสะสมทุกท่านเท่านั้น แต่เป็นโอกาสให้นักสะสม หรือผู้ที่กำลังจะผันตัวเองมาเป็นนักสะสม ทุกรุ่น ได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์การสะสมระหว่างกัน เป็นแรงผลักดันให้เกิดความนิยมของกลุ่มผู้ริเริ่มสะสมงานศิลปหัตถกรรม เสมือนเป็นการสืบสานต่อเส้นทางงานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ทำให้ได้มีโอกาสเห็นฝีมือ เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานของบรรพชนที่มีมาแต่โบราณ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจหรือแนวคิดผ่านชิ้นงานเหล่านี้ของผู้ที่มีทักษะฝีมือเชิงช่าง เกิดการนำไปพัฒนาเป็นผลงาน Masterpiece หรือปรับประยุกต์เป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดขยายผลองค์ความรู้เชิงนวัตศิลป์ต่อไป