กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้ในยุคอุตสาหกรรมปัจจุบัน นอกจากการนำเทคโนโลยี เครื่องจักร และการบริหารจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในภาคการผลิตแล้ว การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้าน ทั้งการจัดการกับผลผลิต การจัดจำหน่าย การหาแนวทางสร้างรายได้เสริม พร้อมผลักดันวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ คืออีกส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเกษตรอย่างยั่งยืน
ธุรกิจของกลุ่มมิตรผลมีความผูกพันกับชาวไร่อ้อยมาเป็นเวลานาน โดยมีปณิธานในการช่วยให้ชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุดิบ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังหลักปรัชญาองค์กร "ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ" โดยเริ่มเข้าไปมีส่วนดูแลชาวไร่จากโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตในปี พ.ศ. 2545 และพัฒนามาสู่การตั้งฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการนำผู้รู้มาช่วยคิด ช่วยพัฒนา เริ่มต้นจากระดับหมู่บ้านจนยกระดับมาสู่ตำบล โดยอาศัยความร่วมมือกับชาวไร่เป็นหลัก โดยเน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และการเข้าถึงโอกาสต่างๆ เช่นการศึกษาเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ รวมทั้งโอกาสในกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งการสร้างพื้นฐานทางความคิด และการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการ "สืบสานงานพ่อ ถักทอตำบล มิตรผลร่วมพัฒนา" ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มมิตรผล ที่โรงเรียนบ้านแจงงาม ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี คือ บทพิสูจน์ความสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่วางเป้าหมายไว้ 3 ประการ คือ การส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยอาชีพเสริม โดยการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต การเพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อขยายผลสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก จากการรวมกลุ่มชุมชนสู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จนไปถึงการสร้างมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) โดยมีพื้นที่นำร่องในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และการต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างมาตรฐานเพื่อให้แข่งขันในตลาด และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย
สุนันท์ แสงประสิทธิ์ ปราชญ์ชุมชนพึ่งตนเอง หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า "สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการเข้าร่วมโครงการนี้คือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี การทำมาหากินของเราลำบากน้อยลง ไม่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยธรรมชาติเหมือนแต่ก่อน เพราะเรารู้จักวิธีป้องกัน ทำให้มีผลิตผลที่เหลือกิน เหลือใช้ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ซึ่งนอกจากการสนับสนุนการศึกษาแล้ว ยังมีการช่วยเหลือในด้านปัจจัยการผลิต เช่น การสร้างโรงเรือน การให้คำแนะนำเรื่องวัสดุอุปกรณ์ รวมไปถึงความรู้ด้านการตลาดพื้นฐาน เพื่อให้เรานำไปต่อยอดในการดำรงชีพ"
ตัวแทนจากกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ชูชีพ งามขำ เล่าว่า "โครงการปลูกผักปลอดสารเกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ทำให้ชุมชนแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ชีวิตก็ดีขึ้น ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือสุขภาพดีขึ้น เพราะเรากินผักที่ปลูกเอง ได้กินของสด ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายสร้างรายได้เสริม"
สายชล เมฆฉาย ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอิ่มสุข เล่าถึงที่มาของโครงการวิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ "เริ่มจากชาวบ้าน 7 คนมารวมตัวกันทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง จากนั้นก็มาทำยาฆ่าแมลงสมุนไพร ปุ๋ยคอกเพิ่ม ผลตอบรับดีมีสมาชิกมีเพิ่มขึ้นจนเป็น 27 คน การเข้าร่วมโครงการกับมิตรผลมีส่วนช่วยในเรื่องการสร้างเครือข่าย การตลาด และการทำแพ็คเกจจิ้ง เรียกได้ว่าเป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามาผลักดันให้คนรู้จักเครือข่ายเรามากขึ้น ธุรกิจเติบโตขึ้น จากที่เมื่อก่อนเรามีแต่เครือข่ายจากราชการ"
ส่วน ภาษวงค์ วัชราไทย ตัวแทนจากโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านแจงงาม เล่าว่า "เรามีการจัดตั้งโรงเรียนเงินออมขึ้นมา ซึ่งพวกเราช่วยกันดูแล เพื่อให้ชุมชนได้บริหารจัดการการเงินได้ด้วยตัวเอง โดยปัจจุบันมีกรรมการ 13 คน และมีสมาชิกรวม 323 คน มิตรผลเองได้เข้ามาช่วยสร้างศูนย์การเรียนรู้ และร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีให้กับชาวบ้านในชุมชนสิ่งที่เห็นได้ชัดจากการร่วมโครงการนี้เลยคือ ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ชุมชนมีแรงผลักดันจากปัจจัยต่างๆ และ มีความกระตือรือร้นที่จะสร้างนิสัยการออมเพื่ออนาคต"
นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "เป้าหมายในการพัฒนาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงพ.ศ. 2564 ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนมีแผนงาน และตัวชี้วัดความสำเร็จของงานภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เป้าหมายโดยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนแต่ละโรงงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานร่วมกับสมาชิก กลุ่ม/องค์กร และภาคี/เครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้ง 3 หลัก ได้แก่ ด้านการพัฒนาระบบเกษตรชุมชนและอาหารปลอดภัย ด้านการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน และด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน"
ปัจจุบัน ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของมิตรผลมีการดำเนินงานอยู่ในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลทั้งหมด 21 ตำบลใน 8 จังหวัด โดยเป็นพื้นที่นำร่อง 9 ตำบล และพื้นที่ขยายผล 12 ตำบล มีสมาชิกครัวเรือนอาสา1,612 ครัวเรือน ซึ่งพัฒนาครัวเรือนต้นแบบแล้ว 105 ครัวเรือน มีกลุ่มปลูกผัก 45 กลุ่ม เกิดตลาดเพื่อการจำหน่ายผลผลิต 21 แห่ง และมียอดจำหน่ายสูงถึง 1,410,239 บาทต่อปี