กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--เวรี่ พีอาร์
สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล "วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น" ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 ทั้งหมด 7 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ สุดใจ จำปา รองศาสตราจารย์ ฉดับ ปัทมสูต ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ เศรษฐมานิต นายทวี บุตรสุนทร นายไพฑูรย์ แก้วทอง นายวีระวัฒน์ ชลายน และ ดร.อดิศัย โพธารามิก โดยพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธีนี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ
โครงการสรรหา วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่นนั้น จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง เชิดชู สรรเสริญ และประกาศเกียรติคุณแก่นิสิตเก่า และคณาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประกอบคุณงามความดี มีจริยธรรมอันดีงาม มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมส่วนรวม สร้างคุณประโยชน์ต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังคมและประเทศชาติ อีกทั้งประสบความสำเร็จในการทำงาน มีความดีเด่นในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่จำกัดเพศ สาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชนหรือองค์กรใด โดยจะต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 30 ปี
สำหรับทั้ง 7 ท่านที่ได้อุทิศตนเพื่อส่วนรวม สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากมาย เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเป็น "วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น" ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 นั้นล้วนมีประวัติการทำงานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ได้แก่ รองศาสตราจารย์ สุดใจ จำปา อดีตหัวหน้าภาควิชาสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นที่ปรึกษาร่วมของโครงการบำบัดน้ำทิ้งในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยได้ทดลองบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดีหลายวิธี ทั้งธรรมชาติบำบัดและเทคโนโลยีบำบัด เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ทำให้โครงการบำบัดน้ำเสียในสวนจิตรลดากลายเป็นแหล่งข้อมูลในการประเมินระบบบำบัดน้ำทิ้งแห่งสำคัญของประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ ฉดับ ปัทมสูต อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และธรณีวิทยาเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์และนักวิชาการมากว่า 45 ปี ทำงานหลายอย่าง เช่น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาแร่ดีบุกแห่งเอเชียอาคเนย์(อยู่มาเลเซีย) ส่วนตำแหน่งที่ภาคภูมิใจได้แก่ นายกสภาวิศวกร ควบคุมวิชาชีพวิศวกรรม ดูแลวิศวกรทั้งประเทศ และประธานกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ เศรษฐมานิต อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราภิชาน ประจำสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายทวี บุตรสุนทร ซึ่งปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมแล้ว แต่ในอดีตได้ทำคุณประโยชน์ไว้มากมาย เช่นเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ในระหว่างปี 2541-2545 เคยเป็นอดีตรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งยังเคยเป็นนายกสภาวิศวกร
นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิจิตรถึง 9 สมัยและยังเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงหลายสมัย อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดดเด่นในการเมืองถึง 12 สมัย และได้เป็นรัฐมนตรีถึง 6 สมัยด้วยกันเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดสภาวิศวกร เคยได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นวิศวจุฬาดีเด่นในปีพ.ศ. 2542
นายวีระวัฒน์ ชลายน อดีตผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นทำงานครั้งแรกกับกรมชลประทาน ดูแลการติดตั้งเครื่องพลังน้ำที่เขื่อนภูมิพล ซึ่งถือเป็นเครื่องแรกของประเทศไทยและพัฒนาติดตั้งอีกหลายเครื่องในหลายเขื่อน สมดั่งคำว่า "คนสร้างเขื่อน" และ ดร.อดิศัย โพธารามิก เจ้าของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม บริษัท ทีทีแอนด์ทีและจัสมิน จำกัด (มหาชน) ผลงานเด่นๆ ได้แก่ โครงการโทรศัพท์ต่างจังหวัด1.5 ล้านหมายเลข โครงการสื่อสารภายในประเทศด้วยดาวเทียม (TDMA) ระบบสื่อสารเพื่อบริการธุรกิจผ่านดาวเทียม (ISBN) และเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ รวมถึงยังมีบทบาททางการเมืองเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และเคยได้รับรางวัล วิศวจุฬาดีเด่น มาแล้ว ในปี พ.ศ.2538
ทั้ง 7 ท่านที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ได้นำความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมไปสร้างประโยชน์มากมายให้กับสังคมและประเทศ เหมาะสมกับประกาศเกียรติคุณรางวัล "วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น" ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 ซึ่งทั้งหมดจะได้จารึกนามประกาศเกียรติคุณไว้ใน หอเกียรติยศ (Hall Of Fame) ของสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย