กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
นางสาวยุวดี วงศ์วีระประเสริฐ รองประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ระดับความสำคัญและความพึงพอใจของนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติต่อปัจจัยด้านเศรษฐกิจของไทย จำนวนทั้งสิ้น 651 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 17 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่า
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญ อันดับหนึ่ง ได้แก่ คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยี การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยให้คะแนนความสำคัญเฉลี่ยอยู่ที่ 7.20 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 แต่ความพอใจอยู่ที่ 5.82 คะแนน อันดับสองของการให้ความสำคัญ คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การเข้าถึงอย่างเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยี การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยคะแนนการให้ความสำคัญเฉลี่ยอยู่ที่ 7.19 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนนแต่ความพอใจอยู่ที่ 5.96 คะแนน อันดับที่สามของการให้ความสำคัญ ได้แก่ ความปลอดภัย (Safety) ได้คะแนน 7.15 คะแนน แต่พอใจอยู่ที่ 5.87 คะแนน ตามลำดับ
อันดับรองๆ ลงไปคือ ความเพียงพอของคนวัยทำงาน ได้คะแนนความสำคัญเฉลี่ยอยู่ที่ 7.10 แต่พอใจอยู่ที่ 5.83 เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ได้คะแนนอยู่ที่ 7.08 แต่ความพอใจอยู่ที่ 5.80 คุณภาพของคนวัยทำงาน แรงงาน ได้คะแนนอยู่ที่ 7.07 แต่ความพอใจอยู่ที่ 5.87 การขยายตัวทางธุรกิจ ได้คะแนน อยู่ที่ 7.06 แต่ความพอใจอยู่ที่ 5.83 ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้คะแนนอยู่ที่ 7.04 แต่ความพอใจอยู่ที่ 5.76 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้คะแนนอยู่ที่ 7.04 แต่ความพอใจอยู่ที่ 5.79 และนโยบายการแข่งขันทางธุรกิจ ได้คะแนน 7.02 แต่ความพอใจอยู่ที่ 5.70
กล่าวโดยสรุป จะพบว่า กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญในปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า ความพึงพอใจในทุกตัวชี้วัด โดยพบว่า ให้ความสำคัญอันดับหนึ่งได้แก่ คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยี การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ รองลงไป อันดับสอง ได้แก่ การเข้าถึงอย่างเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน และ อันดับที่สาม ได้แก่ ความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ พอใจเรื่อง การเข้าถึงอย่างเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานมากเป็นอันดับที่หนึ่งด้วยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.96 คะแนน อันดับสอง พอใจด้านความปลอดภัย และคุณภาพของคนวัยทำงาน แรงงาน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าคะแนนความพึงพอใจ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ โดยเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น