กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพท.ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ เตรียมดันแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการแหล่งน้ำ เสริมแข็งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิเข้าที่ประชุมครม.สัญจร หวังเป็นกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอีสานสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ชัยภูมิ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอแผนงานโครงการของกระทรวงเกษตรฯ ในพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานในด้านการเกษตรไปสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามนโยบายรัฐบาล ที่จะนำเสนอในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ระหว่างวันที่ 21 – 22 ส.ค.นี้ ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่ข้าว ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อรับฟังบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้แทนแปลงใหญ่ข้าว ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจผลิตแป้งข้าวขาวดอกมะลิ 105 ผู้แทนโครงการ 9101ฯ ที่เกี่ยวกับการแปรรูปฯ ก่อนที่รมว.กษ.จะมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์แป้งข้าวหอมดอกมะลิจากนั้นในช่วงบ่ายได้เดินทางต่อไปยังไปกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าว ต.หนองไผ่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานในพื้นที่ ก่อนเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ข้าวอารมณ์ดีของเกษตรกรในชุมชน
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. สัญจร ในวันที่ 21 - 22 ส.ค. 60 ณ จ.นครราชสีมา ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน วางเป้าหมาย พัฒนาอีสานสู่มิติใหม่ "ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" แต่ด้วยพื้นที่ภาคอีสาน มีปัญหาด้านการเกษตรที่สำคัญ อาทิเช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำการเกษตรในรูปแบบเดิมทำให้มีผลผลิตต่ำ และ ขาดการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินการเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์การพัฒนาฯ 7 ด้านสำคัญ คือ 1. การบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ และ ลดความเสี่ยง 2. การยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. พร้อมพัฒนา/จัดสรรให้เกษตรกรที่ยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำ 3.การเสริมสร้าง ศพก. ให้เข้มแข็ง เพื่อทำการเกษตรที่เหมาะสมส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ 4การปรับเปลี่ยนการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้/ผลผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ มีผลผลิตต่ำ และ มีความเสี่ยง 5 การเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อการบริหารจัดการ การลดการใช้สารเคมี การใช้เทคโนโลยี การเพิ่มมูลค่า และ การตลาด6 การเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค และ เพิ่มมูลค่า7โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชน และ วางรากฐานการพัฒนาภาคการเกษตร
สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด จ.ชัยภูมิ ครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนดำเนินการข้างต้น ในเรื่องการส่งเสริมช่องทางการแปรรูปสินค้าเกษตรทั้งในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และดำเนินการภายใต้โครงการ ฯ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการ และ เชื่อมโยงการตลาดที่ดี ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมาก โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ ให้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งรัฐบาลจะมีกองทุนรองรับ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต่อยอดจากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และ สินค้ามีมาตรฐาน ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าข้าวในภาคอีสานที่เกษตรกรยังจำหน่ายผลผลิตขั้นต้น มูลค่าน้อย หากได้แปรรูปจะเพิ่มมูลค่าได้มาก เช่นข้าวขาวดอกมะลิ แปรรูป เพิ่มมูลค่าจาก 13 - 18 บาท/กก. เป็น 35 - 60 บาท/กก. ข้าว แปรรูปเป็นน้ำข้าวกล้องงอก เพิ่มมูลค่าจาก 20 - 25 บาท/กก. เป็น 250 บาท/กก.โดยตลาดที่จะมารองรับ คือ ประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ซึ่งรัฐบาลจะมีการเชื่อมโยงทั้งเส้นทางคมนาคม และ เส้นทางการค้า
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมเสนอแผนการปรับปรุงพนังกั้นน้ำชี ซึ่งชำรุดจากน้ำกัดเซาะ เนื่องจากมีความสูงไม่มาก ทำให้น้ำไหลล้นข้ามไป ทางกรมชลประทาน ได้วางแผนในการเสริมความสูง และอุดรอยรั่วซึมพนังกั้นน้ำ พร้อมปรับปรุงประตูระบายาน้ำจำนวน 7 แห่ง งบประมาณ 990ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการในปี 2561 - 2563เพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำได้ 327,500 ไร่ โดยทั้งหมดนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอ ครม. สัญจร ในวันที่ 21 - 22 ส.ค. 60 ณ จ.นครราชสีมา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป