กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศ นำโดยนายมงคล สุขเจริญคนา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากพระราชกำหนดการประมง ว่า การหารือครั้งนี้นอกจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงแล้ว ยังได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.)สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมเจ้าท่า กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกันตามที่สมาคมฯ ยื่นข้อเสนอความเดือดร้อนมา 4 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานจะเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างเร่งหาวิธีการแก้ปัญหาและวางหลักเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น การนำเข้าแรงงานโดยใช้ MOU หรือความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ( G to G ) ที่กระทรวงแรงงานต้องหาข้อยุติในเรื่องวิธีการและรายละเอียด ซึ่งแนวทางนี้ก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3-6 เดือน ดังนั้น ในที่ประชุมจึงได้มีมติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาแรงงานที่น่าจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้สามารถทำประมงได้ในระยะสั้น ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับมูลค่าสินค้าประมง โดยใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เป็นการชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะต้องไปพิจารณาอีกทีว่าหากมีการใช้มาตรา 83 ที่ให้อธิบดีกรมประมงใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือคนประจำเรือ(Seabook) แบบเบ็ดเสร็จเพื่อให้ได้ใช้แรงงานประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่กระทบแนวทางที่กระแรงงานกำลังวางแผนอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในระยะยาว ถ้าไม่กระทบก็จะเป็นทางออกเป็นทางออกแรงงานประมงได้ในระยะเฉพาะหน้านี้
ประเด็นที่สอง เรื่องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือ ผู้ใช้เครื่องจักรกลในเรือ ที่กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศ กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือสำหรับเรือประมง พ.ศ. 2559 ข้อบังคับกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทำการในเรือประมง พ.ศ. 2559 และประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 55/2560 เรื่อง การฝึกอบรม การสอบความรู้ และการออกหนังสือรับรองสำหรับผู้ควบคุมเครื่องจักรสำหรับเรือประมง ที่ปัจจุบันประกาศต่าง ๆ เหล่านี้ยังมิได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างทั่วถึง ทำให้เรือประมงที่ขาดแคลนคนไทยและต้องใช้แรงงานต่างด้าวทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรสำหรับเรือประมง ไม่สามารถออกทำการประมงได้ เพราะแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตตามข้อบังคับกรมเจ้าท่า จึงได้สั่งการให้อธิบดีกรมเจ้าท่าออกหนังสือไปยังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาครับทราบในการเร่งรัดจัดการอบรม การทดสอบความรู้ให้แรงงานต่างด้าวที่ทำหน้าที่ในเรือประมงให้เป็นไปตามประกาศที่กรมเจ้าท่าออกมาแล้ว เพื่อเรือประมงจะสามารถออกทำการประมงได้
ประเด็นที่สาม แนวทางการซื้อเรือคืน ซึ่งปัจจุบันมีเรือประมงถูกล๊อกจำนวน 1034 ลำ โดยเรือจำนวนดังกล่าวมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าได้จัดทำหลักเกณฑ์เพื่อลดผลกระทบให้กับเจ้าของเรือที่ถูกล็อกให้ชัดเจน ทั้งการจดขนาดเรือให้ถูกต้องเพื่อขอใบอนุญาตการทำประมงต่อ หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้และอยากขาย รัฐบาลก็อาจจะต้องตั้งงบประมาณรองรับรับต่อไป ซึ่งก็ได้สั่งการให้อธิบดีกรมเจ้าที่ทำรายละเอียดการล็อกเรือและซื้อเรือคืนต้องทำอย่างไรให้ชัดเจนเพื่อแจ้งทางสมาคมฯ รับทราบโดยเร็ว
ประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายจากพระราชกำหนดการประมง ที่พอถึงขั้นตอนการปฏิบัติจริงแล้วส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมง ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสมาคมฯ ในรายละเอียดที่เป็นปัญหา อะไรแก้ได้ไม่ได้อย่างไร เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยยังคงเดินตามกรอบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย