กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 2/2560 ที่กระทรวงวัฒนธรรมเมื่อเร็วๆนี้ โดยที่ประชุมได้รับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย 8 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากนักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัยจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน 4 คน รวม 12 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยได้หมดวาระลงเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ที่ประชุมกำชับให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พ.ศ. 2560-2564 เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม รวมทั้งมอบหมายให้ สศร.หารือหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดทำแนวทางการประเมินผลสำเร็จของการส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมแต่ละสาขา อาทิ ภาพยนตร์ แฟชั่น เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการให้การสนับสนุนแก่ผู้ขอรับการส่งเสริมจากกองทุนฯ โดยใช้กรอบแนวทางตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พ.ศ.2560-2564 ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ศึกษา วิจัย และส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ด้านงานสร้างสรรค์วิชาการทางศิลปะ และนวัตกรรม ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่สร้างคุณค่าทางจิตใจ สังคม และมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเห็นชอบกรอบระยะเวลาในการยื่นคำขอรับการส่งเสริมจากกองทุนฯ ประจำปี 2560 และ ประจำปี 2561ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2560 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ สศร.ไปจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์แนวทางการให้การสนับสนุนรวมถึงจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแก่หน่วยงาน องค์กรต่างๆและบุคคลที่ยื่นเรื่องขอรับการสนับสนุน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่สำคัญเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ระยะ 5 ปี ใน 9 สาขา เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้เป็นสังคมที่ตระหนักถึงคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมทั้งให้คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับให้ประเทศไทยสามารถเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปทั่วโลกและใช้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ หรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นการส่งเสริมและผลักดันเมืองที่มีศักยภาพด้านศิลปะอย่างเช่น เมืองโคราช กระบี่และเชียงรายเป็นเมืองศิลปะ ในการนำศิลปะมากระตุ้นการสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่จังหวัดและประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและสร้างพื้นที่ศิลปะ เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและประชาชน และยังปลูกจิตสำนึกรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมอย่างเต็มรูปแบบ