กรมประมงเพาะพันธุ์ปลาบึกจากบ่อเลี้ยงสำเร็จครั้งแรกของโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 4, 2001 10:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กรมประมง
นายธำมรงค์ ประกอบบุญ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงเป็นครั้งแรกของโลก เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมของ ประชากรทั่วโลก เนื่องจากปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและใกล้จะสูญพันธุ์ทั้งยังเป็นปลาขนาดใหญ่ให้ปริมาณเนื้อมาก ในแง่เศรษฐกิจประเทศไทยจะได้สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่
ปลาบึกที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในครั้งนี้เป็นปลาบึกที่เลี้ยงไว้ในบ่อดินที่สถานีประมงน้ำจืด จังหวัดพะเยา จำนวน 1 แม่ สามารถรีดไข่ได้น้ำหนัก 1,200 กรัม เป็นไข่ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดผสมน้ำเชื้อได้ลูกปลาวัยอ่อน จำนวน 350,000 ตัว โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดยนายยงยุทธ อุนากรสวัสดิ์ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาและทีมงาน ต่อมาอีก 2 วันที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดเชียงใหม่ได้ประสบความสำเร็จเช่นกัน ได้ลูกปลาบึกจำนวน 5,000 ตัว จากแม่ปลาอีก 1 ตัว สาเหตุที่ได้ลูกปลาจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีน้ำเชื้อของพ่อปลาจึงต้องนำน้ำเชื้อจากสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาทำให้ประสิทธิภาพของน้ำเชื้อที่นำมาผสมลดลง
นายเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรประมง กล่าวถึงการเพาะพันธุ์ ปลาบึกว่า ได้เริ่มทดลองเพาะพันธุ์ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน โดยได้ทำการฉีดฮอร์โมนผสมเทียมกับ ปลาบึก 3 ครั้งและประสบความสำเร็จในครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกทดลองกับปลาบึก 5 คู่ได้น้ำเชื้อตัวผู้จึงเก็บน้ำเชื้อไว้ ครั้งที่ 2 ทดลองกับแม่ปลาอีก 1 ตัวได้ไข่ปลาเล็กน้อย และครั้งที่ 3 ในวันที่ 18 มิถุนายน แม่ปลาบึกได้ความพร้อม 1 คู่ ขนาดน้ำหนัก 54 กิโลกรัม และขนาดน้ำหนัก 48 กิโลกรัม โดยใช้ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ผลปรากฎว่าแม่ปลาตัวแรกสามารถรีบไข่ได้น้ำหนัก 1,200 กรัม เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นำมาผสมกับน้ำเชื้อและนำไปเพาะฟัก มีอัตราไข่ที่ผสมติดประมาณร้อยละ 85 ลูกปลาฟักเป็นตัว 360,000 ตัว ขณะนี้ลูกปลาบึกมีสุขภาพแข็งแรง ความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ