กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2560 (การสัมมนาฯ) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ในหัวข้อ "ทะลุมิติเศรษฐกิจการคลัง" ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ และมีผู้ร่วมงานกว่า 700 คน โดยกล่าวว่า การจัดงานสัมมนาวิชาการนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ สศค. นำเสนอผลงานวิชาการในประเด็นสำคัญและอยู่ในความสนใจของสังคม เป็นช่องทางเผยแพร่นโยบายของกระทรวงการคลัง รวมทั้งเปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนทรรศนะและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลังของไทย
สศค. ได้รับเกียรติจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นโยบายการคลังการเงินเพื่อเศรษฐกิจมิติใหม่" มีสาระเกี่ยวกับนโยบายการคลังการเงินที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนานโยบายการคลังการเงินในอนาคตเพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนนโยบายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในทุกด้าน เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเพื่อสนับสนุนสังคมผู้สูงอายุ นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นโยบายเพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับในอนาคต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้ สศค. เป็นหน่วยงานหลักในการเสนอแนะนโยบายการคลังการเงินที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น AI : Artificial Intelligence Blockchain Big Data เป็นต้น รวมทั้งก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของประเทศและเสริมสร้างความพร้อมเพื่อรองรับเศรษฐกิจไร้พรมแดนในอนาคต
สำหรับในช่วงเช้าของการสัมมนาฯ เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการของข้าราชการ สศค. ในหัวข้อ "ไขรหัสการคลังอัจฉริยะ" ดำเนินรายการโดยนายพงศ์นคร โภชากรณ์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
นางสาวอรกันยา เตชะไพบูลย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้ ทรัพย์สิน และโอกาส ซึ่งแม้ภาครัฐได้ช่วยเหลือให้สวัสดิการเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดและเพิ่มโอกาสให้คนไม่มีมาโดยตลอด แต่ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลผู้มีรายได้น้อยทำให้สวัสดิการส่วนใหญ่เป็นแบบถ้วนหน้า ยังไม่สามารถชี้เป้าผู้มีรายได้น้อยเพื่อจัดสูตรสวัสดิการที่เจาะจงตรงตัวให้ได้ แต่ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง ทำให้มีข้อมูลเชิงลึกของผู้มีรายได้น้อยมากถึง 11.6 ล้านคน ครอบคลุม 9 มิติ ได้แก่ อายุ สภาพร่างกาย ที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ รายได้ ทรัพย์สินทางการเงินหรือเงินออม หนี้สิน และภูมิลำเนา พร้อมทั้งสามารถคัดกรองข้อมูลเป็นรายจังหวัด อำเภอ และตำบลได้ นับเป็นฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ครอบคลุมและเจาะลึกมากที่สุดในประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย ทำให้ภาครัฐสามารถชี้เป้าผู้มีรายได้น้อยได้ว่าคือใคร อยู่ที่ไหน ยังขาดอะไร และต้องการอะไร
นายธนากร ไพรวรรณ์ กล่าวว่า ไทยมีสวัสดิการภาครัฐที่ดูแลประชาชนตลอดช่วงอายุอย่างน้อย 44 สวัสดิการ แต่ส่วนใหญ่เป็นสวัสดิการเป็นการทั่วไป (Universal policy) ดังนั้น ประเด็นท้าทายจึงอยู่ที่ว่าภาครัฐจะสามารถดำเนินนโยบายที่มีความเฉพาะเจาะจง (Targeted policy) มากขึ้นได้หรือไม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังมากจนเกินไปในอนาคต ทั้งนี้ สามารถนำข้อมูลจากการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้เป็นประโยชน์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบสวัสดิการภาครัฐตามแนวคิด "ช่วยถูกคนช่วยก่อนจน ช่วยแล้วมี" 2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สวัสดิการทั่วถึงและตรงเป้ามากขึ้น และ 3) ระบบสวัสดิการแนวใหม่ เช่น Universal Basic Income คือแนวคิดที่ภาครัฐจ่ายเงินสนับสนุนแก่ประชาชนเพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพขั้นพื้นฐานเป็นจำนวนเท่ากันทุกคน Conditional Cash Transfer เป็นการให้เงินแบบมีเงื่อนไขและ Negative Income Tax เป็นการโอนเงินสดโดยมีเงื่อนไขว?า ผู?ที่ได?รับเงินโอนจะต?องทำงาน
สำหรับการสัมมนาฯ ในช่วงเช้ายังได้รับเกียรติจากผู้วิพากษ์ 2 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ศ.ดร.พิริยะฯ ให้ความเห็นว่า โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และได้เสนอแนะให้ใช้ข้อมูล Big Data มาประกอบการชี้เป้าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด ควรทำให้ถูกต้อง เพื่อให้จัดสูตรสวัสดิการได้ตรงตัว และไม่กระทบแรงจูงใจในการหารายได้ รวมทั้งต้องมีการประเมินผลการดำเนินการเพื่อปรับปรุงการจัดสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ในการบูรณาการจะต้องเริ่มจากฐานข้อมูล โดยควรมีหน่วยงานกลางเพื่อวิเคราะห์ จัดเก็บ และเปิดเผยข้อมูล นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะแนวทางการปรับปรุงนโยบายการคลังให้ทำน้อยได้ผลมาก โดยควรใช้นโยบายที่แปรผกผักกับเศรษฐกิจ สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว สอดคล้องกับความสามารถในการเก็บภาษี ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และดำเนินการอย่างรอบคอบ
ดร.เบญจรงค์ฯ ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ความเหลื่อมล้ำในไทยไม่ดีขึ้น อาจมาจากการขาดการวัดความเหลื่อมล้ำที่เป็นระบบ ทำให้ขาดเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ และขาดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐอาจช่วยแก้ปัญหาการให้สวัสดิการผิดฝาผิดตัวให้ถูกฝาถูกตัวได้มากขึ้น ช่วยให้สวัสดิการตรงกับปัญหาและความต้องการของประชากรที่อยู่ในแต่ละวัฏจักรชีวิต รวมทั้งทำให้ระบบสวัสดิการภาครัฐมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขี้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้สำหรับจัดสรรสวัสดิการ เชื่อมโยงและรวมศูนย์ฐานข้อมูลภาครัฐ เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ นำข้อมูลมาศึกษาเชิงลึกเพื่อกำหนดเป้าหมายของสวัสดิการภาครัฐให้ชัดเจน และมีการประเมินโดยมุ่งเน้นวัดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดมากกว่าแค่กระบวนการ
ในภาพรวม โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเป็นมิติใหม่ของฐานข้อมูล ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ในหลายภาคส่วนและนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจได้ โดยช่วยให้ภาครัฐชี้เป้าผู้มีรายได้น้อยที่ควรได้รับสวัสดิการ ทำให้สามารถจัดสูตรสวัสดิการเหมาะสมทั้งในฝั่งผู้รับคือเป็นผู้มีปัญหาความจำเป็นและในฝั่งภาครัฐที่ช่วยให้การจัดสรรสวัสดิการเป็นธรรม โปร่งใส และช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเอื้ออำนวยให้การบูรณาการนโยบายสวัสดิการเกิดผลสัมฤทธิ์
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3555