กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ทีเส็บ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เดินหน้าตอกย้ำจุดขายประเทศไทยต่อตลาดนักเดินทางกลุ่มไมซ์ (MICE) ต่างประเทศ ชูกลยุทธ์สื่อสารการตลาดสนองตอบนโยบายเศรษฐกิจตามโมเดล ไทยแลนด์ 4.0 และ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (The Eastern Economic Corridor) โดยเล็งการเติบโตของธุรกิจไมซ์ในพื้นที่ พัทยา หัวหิน และกรุงเทพฯ รองรับโอกาสจากการลงทุน และระบบคมนาคมความเร็วสูง เพื่อหนุนรายได้อุตสาหกรรมไมซ์ควบคู่การพัฒนาประเทศ
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ตามที่ภาครัฐ ได้ประกาศนโยบายและทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยมีการออกมาตรการเพื่อการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน การพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยทีเส็บ เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของภาคธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวกับไมซ์ ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นสถานที่สำหรับการประชุมสัมมนา และจะส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ
"ทีเส็บ พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยมุ่งหวังให้กิจกรรมด้านไมซ์เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ทีเส็บ เดินหน้าสร้างเครือข่ายร่วมกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดเพื่อดึงดูดให้องค์กรต่างๆ มาจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทย ซึ่งแคมเปญล่าสุด ทีเส็บนำเสนอจุดเด่นของประเทศไทย ใน 3 ด้าน ได้แก่ โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง ความหลากหลายของสถานที่และจุดหมายในการจัดกิจกรรมไมซ์ รวมถึงความมีเอกลักษณ์และความเป็นมืออาชีพของบุคลากรของไทย ที่สามารถรองรับการจัดงานกิจกรรมไมซ์ระดับโลก โดยองค์ประกอบเหล่านี้ เสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นสวรรค์แห่งแห่งการจัดงานเชิงธุรกิจและการพักผ่อนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ทีเส็บ ยังดำเนินกิจกรรมเพื่อตอกย้ำการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศไทย International Media Familiarisation Trip (IMFT2017) ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคมนี้ โดยเชิญผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 35 สำนักข่าวจาก 16 ประเทศ มาเยี่ยมชมและสัมผัสศักยภาพของจุดหมายปลายทางด้านไมซ์ชั้นนำของไทย ได้แก่ พัทยา หัวหิน และกรุงเทพฯ ภายใต้ธีม "CONNECT Thailand: Kingdom of Bleisure, นำเสนอประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่ยังเพียบพร้อมด้วยกิจกรรมพักผ่อนที่สร้างความประทับใจได้อย่างตอบโจทย์นักเดินทางกลุ่มไมซ์
สำหรับการโปรโมทศักยภาพด้านไมซ์ของทั้งสามเมือง ทีเส็บ นำเสนอจุดแข็งในด้านต่างๆ อาทิ พัทยา เมืองแห่งธุรกิจและการพักผ่อน ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี พื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการคาดการณ์เม็ดเงินลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวสูงถึง 1.505 ล้านล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการระดับใหญ่หลายโครงการ อาทิ การยกระดับสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการจูงใจนักลงทุนด้วยมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมให้ อีอีซี เป็นฐานของ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อพัทยาในการเป็นจุดหมายของนักธุรกิจและนักเดินทางกลุ่มไมซ์
ผนวกกับความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่พัทยามีรองรับอยู่แล้ว เช่น ศูนย์แสดงนิทรรศการ สถานที่จัดงานประชุมสัมมนาที่มีให้เลือกหลากหลาย โรงแรมห้องพักหลายระดับ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลอันเป็นที่นิยม และแหล่งกิจกรรมผ่อนคลายสำหรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ในพัทยา อาทิ ศูนย์การจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติแห่งใหม่ที่สวนนงนุช พร้อมหอประชุมขนาดใหญ่ รองรับผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เป็นจำนวนมาก คานโชว์ (KANN Show) ซึ่งเป็นการแสดงไลฟ์โชว์โดยประยุกต์เรื่องราวจากวรรคดีไทย และ เฮลท์แลนด์ สปา พัทยา (Health Land Spa Pattaya) ซึ่งเป็นหนึ่งในด้านการนวดและสปาในระดับภูมิภาค
สำหรับ หัวหิน เป็นจุดหมายที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองพัทยาด้วยบริการเรือเฟอรรี่ข้ามอ่าวไทยด้วยเวลาเดินทางเพียง 2 ชั่วโมง โดยเป็นเมืองชายทะเลที่มีมนต์เสน่ห์และเป็นที่ตั้งของพระราชวังของพระราชวงศ์ของไทย ปัจจุบัน มีโรงแรมระดับห้าดาวหลากหลายแบรนด์ และยังเป็นจุดหมายยอดนิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ตอบโจทย์ในการจัดกิจกรรมด้านไมซ์ ซึ่งเน้นความหรูหรา พิเศษและแตกต่าง ทั้งนี้ หัวหินมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไมซ์ที่ครบครัน อาทิ สนามกอล์ฟ สถานที่ให้บริการสปาระดับหรู ห้องพัก และสถานที่จัดงานระดับใหญ่ โดยนักเดินทางที่มาจัดกิจกรรมไมซ์ในหัวหิน สามารถเพลิดเพลินกับบรรยากาศเมืองชายทะเล ความหลากหลายของร้านอาหารทะเล และ สีสันของตลาดโต้รุ่ง ทั้งนี้ ปัจจัยบวกด้านโครงการพัฒนาด้านการคมนาคม ตามแผนเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-หัวหินด้วยรถไฟความเร็วสูง จะส่งผลต่อการขยายตัวของกิจกรรมด้านไมซ์ในหัวหินในอนาคต ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 94,670 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังเสียงภาคเอกชน
ส่วนกรุงเทพมหานคร หนึ่งในเมืองหลวงของเอเชีย สามารถตอบสนองทุกความต้องการของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยกรุงเทพฯ ถือเป็นฮับแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย มีศูนย์การประชุมและนิทรรศการระดับโลก โรงแรม หลากหลายระดับ แหล่งช้อปปิ้งชั้นนำ ร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก แหล่งท่องเที่ยวและบันเทิง สำหรับการเดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯ มีโครงการขยายและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทางสัญจร และการพัฒนาพลังสยาม หรือ Siam Synergy ด้วยการแท็กทีมของ 3 กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าที่ปักหมุดทำเลสยาม-ปทุมวัน คือ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค, กลุ่มสยามพิวรรธน์และกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ เพื่อตอกย้ำตัวตนของย่านสยามในฐานะศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การช็อปปิ้ง และศิลปวัฒนธรรม-ความบันเทิงที่หลากหลายและครบทุกมิติ
"สำหรับการนำเสนอจุดเด่นด้านไมซ์จากสามจุดหมายปลายทางต่อกลุ่มสื่อมวลชนต่างประเทศในปีนี้ ทางทีเส็บต้องการสร้างประสบการณ์ตรงและมุมมองต่อประเทศไทยทั้งความมีระดับของสถานที่พัก สถานที่จัดกิจกรรม จุดเด่นทางวัฒนธรรม อาหารไทย และกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายการจัดงานไมซ์ ที่มีความหมายและน่าจดจำได้เป็นอย่างดี" นางศุภวรรณ กล่าว
กิจกรรม IMFT ของทีเส็บในปีนี้ จัดขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรหลักที่มีความสำคัญ อาทิ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเป็นความร่วมมือที่มุ่งส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่เป้าหมาย
ดร. ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่าง EEC และ ทีเส็บ โดย EEC ได้มาร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนต่างประเทศในอุตสาหกรรมไมซ์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็น Flagship Project ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ ทาง EEC ได้ให้ข้อมูลโดยสรุปแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ (1) นำเสนอแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน EEC เป็นการลงทุนที่พร้อมรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมรวมถึงการสร้างเมืองเชิงนิเวศ (Eco-cities) ที่น่าอยู่ พัฒนาเมืองให้มีความเชื่อมโยงให้เกิดเป็น "Smart City" ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมไมซ์ในอนาคต และ (3) การพบปะกับสื่อมวลชนในครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายระหว่าง EEC กับ ทีเส็บ ในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่นานาชาติได้มากขึ้นในอนาคต
ด้าน นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นผู้นำของผู้ประกอบการธุรกิจสนามบินของประเทศไทย สายธุรกิจหลักคือการจัดการดำเนินงานและการพัฒนาสนามบิน ปัจจุบันมีสนามบินนานาชาติ 6 แห่งภายใต้ความรับผิดชอบ: ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่, แม่ฟ้าหลวงเชียงราย และสุวรรณภูมิ ซึ่งทั้งหมดนี้รองรับ ทั้งเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ ทอท. ได้คำนึงถึงการมุ่งสร้างองค์กรสู่ความเป็นเลิศ โดยมุ่งมั่นยกระดับการพัฒนาคุณภาพบริการ การพัฒนาสมรรถนะบุคลากร การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวไป อย่างไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งได้ให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นใจและความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการท่าอากาศยานภายใต้คำขวัญ "ปลอดภัยคือมาตรฐาน บริการคือหัวใจ"
ส่วน นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน และ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทย มีเครื่องบินในฝูงบินจำนวนทั้งหมด 96 ลำ ให้บริการสู่ 76 จุดหมาย หรือ 77 สนามบิน ใน 32 ประเทศทั่วโลก โดยมีเที่ยวบินแบบไป-กลับ จำนวน 1,086 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเส้นทางบินสู่ทวีปยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย นอกจากนี้ การบินไทยเตรียมขยายเส้นทางบินสู่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย ทั้งนี้ตลอดการดำเนินงาน 57 ปี การบินไทยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมด้านสินค้าและการบริการจากหน่วยงานนานาชาติเป็นจำนวนมาก และติดอันดับเป็นหนึ่งในสายการบินที่ได้รับความนิยมสูงสุด จากการสำรวจของนิตยสารการท่องเที่ยวชั้นนำ และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้โดยสาร
อุตสาหกรรมไมซ์นับเป็นธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยในปี พ.ศ. 2558 อุตสาหกรรมไมซ์สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง 220,000 ล้านบาท และสร้างงานอีกจำนวน 164,427 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังสร้างรายได้จากทางภาษีคิดเป็นเงินกว่า 10,400 ล้านบาทด้วย
นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ได้รับข่าวดีจากการจัดอันดับโดยสมาคมที่ดำเนินงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ในระดับนานาชาติ อาทิ สมาคมการประชุมนานาชาติของโลก หรือ ICCA จัดอันดับไทยให้เป็นเมืองที่มีจำนวนการจัดประชุมสูงถึง 174 งาน โดยเติบโตสู่อันดับที่ 24 จากอันดับที่ 27 เมื่อปี 2558 โดย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ก็มีลำดับที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ด้านการแสดงสินค้านานาชาติ สมาคมด้านการแสดงสินค้าระดับโลก หรือ UFI ให้ ไทยติดอันดับ 1 ของอาเซียนในด้านพื้นที่ขายสุทธิของการจัดงานแสดงสินค้าตลอด 5 ปี (พ.ศ.2554-2558)
สำหรับ ในปีงบประมาณ 2560 ทีเส็บคาดการณ์ว่า จะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้าในประเทศไทยรวม 27.1 ล้านคน สร้างรายได้ 155,000 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,109,000 คน สามารถสร้างรายได้ประมาณ 101,000 ล้านบาท และ นักเดินทางกลุ่มโดเมสติกไมซ์ 26 ล้านคน สร้างรายได้ 54,000 ล้านบาท และยังสามารถบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนไมซ์ให้เป็นกลไกในการสร้างความเจริญ กระจายรายได้ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์สู่ภูมิภาค สร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ในปี 2560 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญระดับนานาชาติในปีนี้อีกหลายงาน อาทิ งาน 2017 PCMA Global Professional Conference – Asia Pacific วันที่ 28 – 31 สิงหาคม ที่กรุงเทพฯ งาน UIA's Associations Roundtable Asia-Pacific 2017 วันที่ 21 – 22 กันยายน ที่ จ.เชียงใหม่ งาน IT&CM Asia & CTW Asia Pacific 2017 วันที่ 26-28 กันยายน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานไมซ์เทรดโชว์สำคัญของภูมิภาคเอเชียที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 16 งาน SIGGRAPH Asia 2017 วันที่ 27-30 พฤศจิกายน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาและนิทรรศการด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกและแอนิเมชันของกลุ่มประเทศทั่วโลก และในปี 2562 ประเทศไทยยังคว้าสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดงาน SITE Global Conference 2019 งานประชุมระดับโลกของหน่วยงานด้านธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
นางสาวอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการอาวุโส โทรศัพท์ 02-694-6095 อีเมล arisara_t@tceb.or.th
นางสาวฐิติวัลยา ไทยมงคลรัตน์ ผู้จัดการ โทรศัพท์ 02-694-6103 อีเมล titiwanlaya_t@tceb.or.th
นายการุณย์ วรารัตน์ไชย ผู้จัดการ โทรศัพท์ 02-694-6179 อีเมล karun_w@tceb.or.th
เอ พับลิซิสท์ โทร. 0 2101 6860
คุณอาภาภรณ์ (เอ) 089 788 4868, คุณธิษตยา (แจง) 094 323 5641, คุณสรศักดิ์ (เอิร์ธ) โทร. 089 406 5544