กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยสรุปการสัมมนาประจำปี Thai Bond Market 2002: Outlook and Opportunities ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 โดยความสนับสนุนของ ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารดอยช์แบงก์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารเอบีเอ็น แอมโร โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาอย่างคับคั่งกว่า 300 คน จากกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกัน บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ
ดร. สมชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย ผู้เปิดการสัมมนา ได้กล่าวถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดตราสารหนี้ไทย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี 2540 ว่า เป็นผลจากความจำเป็นของรัฐบาลในการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ทำให้ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า สำหรับภาคเอกชน ตราสารหนี้เป็นทางเลือกในการระดมทุนซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากผู้ออกหุ้นกู้และผู้ลงทุน โดยมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ในปี 2544 ณ เดือนตุลาคม เท่ากับ 1.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 546 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2540 คิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 36% ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา สำหรับปริมาณการซื้อขายรายวัน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 100% จากยอดซื้อขายต่อวันที่ 430 ล้านบาทในปี 2540 เป็น 6.6 พันล้านบาทต่อวันในช่วง 10 เดือนของปี 2544
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลต. ได้ให้เกียรติกล่าวถึง บทบาทและแผนงานในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของสำนักงาน กลต. ในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรองตราสารหนี้ การพัฒนาข้อมูลในตลาดแรกและตลาดรอง โดยในตลาดแรก ได้แก่ คุณภาพและความครบถ้วนของข้อมูล การจัดอันดับเครดิตของตราสารหนี้ และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายหุ้นกู้ ส่วนในตลาดรอง ได้แก่ การผลักดันให้มี Inter dealer broker (IDB) เพื่อช่วยจับคู่การซื้อขายระหว่างผู้ค้า และ Electronic trading platform (ETP) ซึ่งจะช่วยให้การซื้อขายตราสารหนี้ทำได้สะดวกและข้อมูลซื้อขายมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น การขยายฐานนักลงทุน การพัฒนาตราสารทางการเงินให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น Structured note รวมถึง การขจัดอุปสรรคด้านภาษี เป็นต้น
หลังจากนั้น คุณประวิช สารกิจปรีชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชำระหนี้ กระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึง นโยบายการออกพันธบัตรรัฐบาล และการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ อาทิ เช่น การยกร่างกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ การจัดระบบการออกตราสารหนี้ภาครัฐไม่ให้กระจุกตัว การจัดทำตารางการประมูลตราสารหนี้ภาครัฐที่แน่นอนและสม่ำเสมอ การสร้างอัตราผลตอบแทนอ้างอิงระยะสั้น ซึ่งภาครัฐมีแผนที่จะออกตั๋วเงินคลังอย่างสม่ำเสมอและปริมาณที่เพียงพอ เพื่อใช้เป็น Underlying benchmark สำหรับการพัฒนาเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศอีกหลายท่านจากสถาบันการเงินชั้นนำในตลาดตราสารหนี้ ได้กล่าวถึง มุมมองและโอกาสของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย แนะนำกลยุทธ์การลงทุน ตลอดจนพัฒนาการของเครื่องมือและนวัตกรรมต่างๆของตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารการลงทุนและความเสี่ยง อาทิ เช่น Repo Derivatives และ Structured Product ต่างๆ
ทั้งนี้ เอกสารจากการสัมมนาทั้งหมดสามารถ Download ได้จาก Website ของศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย www.thaibdc.or.th หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธิดารัตน / คุณสุนันทา โทร 0-2252-3336 ต่อ 121, 212--จบ--
-อน-