กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กระทรวงการต่างประเทศ
ความคืบหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ รอบ 5 วันที่ 3 สหรัฐฯ พร้อมดำเนินการแก้ไขอุปสรรคเทคนิคทางการค้า โดยสหรัฐฯ พร้อมจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบทางเทคนิคและด้านมาตรฐานแก่ไทย ส่วนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไทยเสนอคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ในขณะที่การเจรจาด้านการลงทุนคืบหน้าหลายเรื่องและเตรียมเจรจารายสาขาในรอบหน้า
นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย — สหรัฐฯ เปิดเผยถึงผลการเจรจาในวันที่สาม (28 ก.ย. 48) จากทั้งหมด 5 วัน ว่า ความคืบหน้าของการหารือในวันนี้มีทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และสิ่งที่ทีมเจรจาจำเป็นต้องยืนกรานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
โดยในการหารือเรื่องอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) ได้มีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของสินค้าไทย ซึ่งต่อเนื่องมาจากการเจรจารอบที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ สหรัฐฯ ขอให้ฝ่ายไทยจัดทำรายชื่อสินค้าสำคัญๆ ทั้งหมดที่ประสบปัญหาในการเข้าสหรัฐฯ เพื่อที่จะจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ทำความเข้าใจถึงกฎระเบียบที่จะเป็นอุปสรรคทางการค้าของไทย และจะมีคณะกรรมการร่วมไทย-สหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประเด็นปัญหาในเรื่องนี้ไปตลอด
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ยอมรับในมาตรฐานและความโปร่งใสในระบบของไทยว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการกำหนดหน่วยประสานงานด้านมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแก้ปัญหาอุปสรรคเทคนิคทางการค้าที่มีอยู่ระหว่างกัน
สำหรับการเจรจาในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เพราะได้หารือถึงเนื้อหาของข้อเสนอแต่ละฝ่ายอย่างจริงจังมากกว่าทั้ง 4 รอบที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ไทยได้ยื่นข้อเสนอเราหลายเรื่อง อาทิ ความร่วมมือในการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีไทยจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในสหรัฐฯ ได้ง่ายขึ้น และความร่วมมือด้านการค้นคว้าวิจัย รวมทั้งได้ยื่นเสนอให้สหรัฐฯ คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อาทิ ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม และการคุ้มครองและแบ่งปันผลประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย หากมีการนำไปวิจัยและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือกันในวันต่อไป
สำหรับวันที่ 29 และ 30 กันยายนนี้ จะมีการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต่อ โดยจะมีการหารือถึงเรื่องลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และข้อเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ไทยได้ยื่นไป
ในเรื่องการเจรจาภาคการลงทุน ทีมเจรจาจะมุ่งเน้นในเรื่องของการปรับกฎหมายให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับซึ่งกันเป็นหลัก ส่วนเรื่องนโยบายการเจรจาที่จะใช้รูปแบบ Positive List Approach หรือ Negative List Approach นั้น ทีมเจรจาของไทยจะเสนอให้ระดับบริหารของรัฐบาลไทยเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการ ซึ่งถ้าทั้งไทยและสหรัฐฯ มีจุดยืนเรื่องรูปแบบการเจรจาได้ก็จะสามารถเจรจาเรื่องการลงทุนในรายสาขาได้ในการเจรจาครั้งต่อไป--จบ--