กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--
บทเรียนของชีวิตบางครั้งก็ได้มาจากข้อผิดพลาด อยู่ที่ว่าใครจะนำมาแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น และโอกาสถือเป็นพลังที่สำคัญที่จะสามารถแปรเปลี่ยนความผิดพลาดเหล่านั้นให้กลายเป็นแรงผลักดันขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่มีความผิดในคดียาเสพติด เนื่องจากความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ปัญหาครอบครัว หรือเป็นคนด้อยโอกาสทางสังคม แม้จะพลาดไปแค่ครั้งเดียวแต่สังคมก็ตีตราว่าเป็นคนไม่ดี เมื่อชดใช้ความผิดในทัณฑสถานเสร็จ ก้าวออกมาสู่สังคมก็ไม่มีใครยอมรับ นับเป็นการซ้ำเติมทางด้านจิตใจและตัดโอกาสทางสังคมของพวกเขาไป ทำให้แนวโน้มที่จะกลับไปทำความผิด และกลับสู่วงจรของยาเสพติดอีกเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างความภาคภูมิใจ และให้สังคมยอมรับ รวมถึงการป้องกันไม่ให้กลับไปสู่สังคมเดิมและวงจรยาเสพติดอีก "วิสาหกิจสุขภาพชุมชน" หรือ Social Health Enterprise (SHE) โดย นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา เป็นผู้ก่อตั้ง ได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมเปิดบ้านกึ่งวิถี "บ้านเธอ" เพื่อเป็นที่พักอาศัยของนักโทษหญิงหลังพ้นโทษ โดยให้โอกาสสตรีที่ขาดโอกาสในการมีชีวิตที่ดี มาฝึกอบรมบริการนวดบำบัดอาการ Office Syndrome โดยการจ้างงานอย่างเป็นธรรม และสนับสนุนให้เป็นเจ้าของกิจการเองเมื่อพร้อม
ลักขนา นิลศิริ ฝ่ายพัฒนาการตลาด วิสาหกิจสุขภาพชุมชน เล่าว่า สำหรับ SHE ก่อตั้ง เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมถึง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านโครงการ SET Social Impact เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมในหลากหลายมิติได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการเปิดอบรมเรื่องการดัดจัดสรีระให้กับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งเมื่อพ้นโทษออกมาก็รับเป็นพนักงานสังกัด SHE ดังที่คุณหมอพูลชัยมักบอกกับผู้คนว่า "เราได้รับการโปรโมทจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า งานที่เราทำนั้นเป็น Double CSR คือช่วยสร้างให้สังคมปลอดยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างชีวิตให้คนที่ไร้โอกาส ด้วยการนำนักโทษที่ดูเหมือนไร้ค่า มาทำสิ่งที่มีคุณค่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมต่อไป"
ลักขนา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านับตั้งแต่SHE เปิดมา 5 ปีกว่า มีผู้ต้องขังหญิงผ่านการอบรมหลักสูตรดัดจัดสรีระ จำนวน 500-600 คน เมื่อพ้นโทษแล้วมาทำงานกับSHE 70 กว่าคน และตอนนี้เหลืออยู่ 11 คน ซึ่งพักอยู่ที่บ้านกึ่งวิถี (เธอ) บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง
สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่อง การดัดจัดสรีระ นั้น ทาง SHE จะร่วมมือกับทางเรือนจำแต่ละแห่ง ว่ามีผู้ต้องขังหญิงสนใจเรียนหรือไม่อย่างไร และผู้ที่เข้าอบรมก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด อาทิ ต้องเป็นผู้ต้องขังสัญชาติไทย อายุ 25-35ปี ที่มีร่างกายแข็งแรง และเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลครอบครัว โดยในหลักสูตรใช้เวลาอบรม 150 ชั่วโมง ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ที่เข้ารับการอบรมมักต้องโทษคดียาเสพติด
จุดเด่นของหลักสูตรแตกต่างจากการนวดทั่วไป อย่างที่คุณลักขนา แจกแจงว่า การจัดดัดสรีระ ใช้รูปแบบในการยืดกล้ามเนื้อหลายๆ มัดพร้อมๆ กัน โดยใช้ช่วงเวลาสั้นๆ และยืดจนตึงร่วมกับการกดจุดทางการแพทย์ ซึ่งผู้ที่จะทำตรงนี้ได้ต้องได้รับการฝึกมาอย่างดีเป็นหลักสูตรคุณหมอพูลชัยคิดค้นขึ้นมาเอง
ที่ผ่านมานอกจากพนักงานของSHE จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สำนักงานบ้านกึ่งวิถี (เธอ) ตรงแยกสามเหลี่ยมดินแดงแล้ว หากมีบริษัทหรือหน่วยงานใดแจ้งมาก็ไปให้บริการ และในบางครั้งก็ไปเป็นจิตอาสา อย่างเช่นไปนวดสกัดจุดแก้ปวดเมื่อยใช้เวลา 5นาที ให้กับผู้คนที่เดินทางมาไปกราบพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
อารีรัตน์ เซ็กโต อายุ 43ปี เธอเล่าอดีตให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี ต้องโทษคดียาเสพติดทั้งเสพและขาย ติดอยู่ 1ปี 10 เดือน สาเหตุที่ตัดสินใจเรียนนวดตอนอยู่ในคุกเพราะอยากมีอาชีพ ไม่เคยรู้หรือเรียนนวดมาก่อน
"พอออกจากคุกก็มาอยู่กับคุณหมอ ตอนนี้เข็ดแล้วเรื่องยาเสพติด จะไม่ยุ่งอีกแล้ว ขอบคุณ คุณหมอที่ช่วยหางานให้ทำ และการอยู่บ้านกึ่งวิถี (เธอ) แบบนี้ก็เป็นผลดี ทำให้มีอาชีพมั่นคง เฉลี่ยเดือนละหมื่นกว่าบาท มีรายได้ส่งให้พ่อแม่ เพราะอยู่กับคุณหมอไม่เสียค่าอะไรเลย อยู่ฟรี และกินข้าวฟรีทุกมื้อ"
ภัทริน เกกะสุต อายุ 32ปี เจ้าหน้าที่ในสังกัดอีกคนของ SHE ถ่ายทอดความรู้สึกและช่วงชีวิตในคุกให้ฟังว่า ต้องคดียาเสพติดทั้งเสพและขายด้วย อยู่เรือนจำจันทบุรี 1 ปี 5 เดือน 20วัน เพิ่งพ้นโทษออกมาไม่กี่เดือนนี้ ตอนอยู่ในคุกตั้งใจเรียนโปรแกรมดัดจัดสรีระเนื่องจากเห็นว่าทางคุณหมอ และเรือนจำนำความรู้มาให้แล้วก็ควรเรียน จะได้มีอาชีพติดตัว เพราะอย่างไรก็ต้องอยู่ในคุก ทำอย่างไรให้มีข้อดี ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ
"เราไม่เคยเรียนการดัดจัดสรีระมาก่อน แต่พอได้มาทำเป็นอาชีพแล้วรู้สึกดีมาก เพราะการดัดจัดสรีระคือการสร้างความสุขให้ผู้คน มันได้ยิ่งกว่างาน นั่นคือความภูมิใจในตัวเอง ตอนพ้นโทษออกมาแล้ว ไม่ค่อยมีใครอยากจะจ้าง แต่ SHE อ้าแขนรับ ที่นี่อบอุ่นให้โอกาสเรา ก่อนหน้าติดคุกเคยเป็นแม่ค้า เคยทำสวน แต่ไม่เคยภูมิใจในตัวเองเลย เมื่อมาอยู่ในจุดนี้ทุกคนยอมรับ แม้จะเป็นผู้ต้องขังมาก่อน เขาให้โอกาส ขณะที่ตัวเราเองก็อยากจะให้คนรู้ว่าเราเป็นคนดี โดยคุณหมอเป็นคนการันตีว่าเราเป็นคนดี"
อดีตผู้ต้องขังหญิงรายนี้ยืนยันว่า การติดคุกที่ผ่านมาเป็นบทเรียนราคาแพง ซึ่งเธอสัญญาว่าจะไม่หวนกลับไปยุ่งเรื่องยาเสพติดอีก นั่นเพราะเธอนึกถึงอนาคตของลูกที่กำลังอยู่ในวัยเรียน ไม่อยากทำผิดซ้ำสอง"
ภัทริน ยังบอกอีกว่า การอยู่กับ SHE ทำให้รู้สึกดีและครอบครัวก็เข้าใจ ซึ่งในตอนแรกสามี ไม่อยากให้มาทำเพราะมองว่า ต้องมีการถูกเนื้อถูกตัวผู้ชายที่มารับบริการ แต่เมื่อให้มาดูวิธีการทำงานและการอยู่กับลูกค้า ซึ่งจะไปกันเป็นกลุ่มไม่ได้ ทำการดัดจัดสรีระในห้องแบบสองต่อสอง สามีเลยเข้าใจและยอมให้ทำงานนี้
ส่วน ลักขนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกคนใน SHE มีความภูมิใจ ที่งานของ SHE ได้รับการยอมรับซึ่งเราทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ช่วยทำให้ทุกฝ่ายๆอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสุข ไม่เบียดเบียน ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญสังคมโดยรวมได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยจากความสำเร็จของโปรแกรมนวดจัดสรีระที่มีมาตรฐาน SHE ยังมีแผนที่จะขยายงานลงไปในชุมชน ต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพให้กลุ่มแม่บ้าน ซึ่งคงจะต้องขอการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ให้สมัครเข้ามาเป็นลูกค่า ให้ทาง SHE เข้าไปจัดโปรแกรมดูแลสุขภาพพนักงาน ซึ่งไม่เพียงจะทำให้พนักงานมีสุขภาพดีขึ้น แต่ยังเป็นการช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชนอีกด้วย
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับงานด้านการพัฒนาควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตามวิสัยทัศน์ "To Make the Capital Market work for Everyone" โดยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน และ ผู้ลงทุน คำนึงถึงประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล และยังได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงบริษัทจดทะเบียนกับภาคสังคมผ่าน SET Social Impact Platform เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งหมายถึงการนำทรัพยากรขององค์กรมาลงทุน โดยไม่ได้หวังแต่เพียงผลกำไร แต่ยังมุ่งสร้างผลลัพธ์ ทางสังคมไปควบคู่กัน ซึ่งภาคธุรกิจสามารถทำได้โดยการนำทรัพยากร ได้แก่ เงินทุน หรือความรู้ความสามารถ การให้สถานที่หรือช่องทางจำหน่ายสินค้า เป็นต้น มาสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม
"โครงการ SHE เป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่มีความชัดเจน ถึงวัตถุประสงค์ที่มุ่งจะมีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหาสังคม การดำเนินงานของ SHE นั้นมีการบริหารจัดการที่ดี มีการพัฒนาความรู้ ทักษะ และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่เคยต้องโทษให้สามารถพึ่งพาตนเอง มีความมั่นใจ และ มีอาชีพที่มั่นคง เลี้ยงครอบครัว ขณะนี้ทางโครงการยังมีแผนขยายออกไปสู่ชุมชน เพื่อสร้างอาชีพให้กลุ่มแม่บ้าน ที่ว่างจากงานเกษตร นับว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพ จึงอยากเชิญชวนให้หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ ด้านสุขภาพ หรือการสนับสนุนทุน เพื่อการพัฒนา เพื่อให้โครงการสามารถสร้างผลกระทบที่ดีในสังคมได้กว้างขึ้น"
ภายใต้ SET social Impact Platform ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคมในด้านอื่นๆครอบคลุมทั้งการพัฒนาชุมชน การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และด้อยโอกาส บริษัทที่ต้องการเชื่อมโยงหาพันธมิตรแก้ไขปัญหาสังคม เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดี ทางสังคม สามารถเข้าไปดูข้อมูลภาคธุรกิจ และภาคสังคม ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ ได้ที่ www.setsocialimpact.com หรือ FB: SET Social Impact