กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้มีมติเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในเขตพื้นที่ตามประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2560 เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข็มแข็งแก่องค์กรเกษตรกร และเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากอุทกภัย ให้ได้รับการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรมหรือกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัยนั้น คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ จึงกำหนดให้เปิดรับโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2560 กรอบงบประมาณ 82,018,865 บาท และให้องค์กรเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ประสงค์จะขอรับการสนับสนุน ยื่นเสนอโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้ ณ สำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัด ในท้องที่ที่องค์กรเกษตรกรตั้งอยู่ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแบบเสนอโครงการที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรกรเฉพาะกิจกำหนด
สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประกอบด้วย 1. การสนับสนุนงบประมาณ ประเภทเงินอุดหนุน ให้พิจารณาตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินองค์กรละ 30,000 บาท โดยเกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. กิจกรรมในโครงการที่เสนอรับการสนับสนุนต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกิจกรรมที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ของรัฐ และ 3. หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 3.1) ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของกิจกรรมกลุ่ม อาทิ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับเกลี่ยพื้นที่ รวมถึงค่าซ่อมแซมวัสดุ และค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ 3.2) ด้านการแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อการนำมาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิต และ 3.3) ด้านการรวบรวมผลผลิตเชื่อมโยงตลาด