กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เปิดงาน "ศรีสะเกษ เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก" เพื่อพัฒนาการสร้างเครือข่าย และผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้สู่มาตรฐานสากล ให้มีปริมาณเพียงพอที่จะทำการตลาดเชิงพาณิชย์ ตลอดจนสนองนโยบายขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานสัมมนา "ศรีสะเกษ เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 สิงหาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยไม่พึ่งพาสารกำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี ซึ่งนอกจากส่งผลดีโดยตรงต่อสุขภาพของเกษตรกรแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย รวมทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงเข้มงวดในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้า โดยวางระบบในการควบคุมตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ปัจจัยการผลิต พื้นที่เพาะปลูก และผลผลิต นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมุ่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าอินทรีย์ในท้องตลาด จะได้เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรวิถีอินทรีย์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 6 แสนไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษเป็น 1 ใน 3 จังหวัด (ศรีสะเกษ มหาสารคาม และพัทลุง) ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภาค และระดับจังหวัดเพิ่มเติม
น.ส. ชุติมา กล่าวว่า "การสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการหาแนวทางผลักดันเกษตรอินทรีย์วิถีศรีสะเกษ โดยทางจังหวัดศรีสะเกษรายงานว่า ในปี 2560 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น 34,000 ไร่ และมุ่งเป้าในการขับเคลื่อนด้านเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง การสัมมนาในวันนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดศรีสะเกษให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรและผู้ที่สนใจ และจะนำข้อสรุปจากการสัมมนาไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป"