กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--โรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์เกษตร
โรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนที่เน้นสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาของเด็กปฐมวัยในความดูแลของ"นางสาวจุไรพร รอดเชื้อ" คุณครูใหญ่ของโรงเรียน จัดกิจกรรม "พาลูกปลูกข้าว ณ บ้านครูธานี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี" ครูใหญ่กล่าวว่า "เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนาการ และ การเรียนรู้ของนักเรียนในทุกด้านเสมอมา เน้นปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกที่ดี ทางสังคมและวัฒนธรรม การเลี้ยงดูของสถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษาเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตของเยาวชนและด้วยสังคมปัจจุบัน เทคโนโลยีและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนทำให้วิถีของคนไทยสมัยก่อน อันเป็นรากเหง้าและแก่นแท้ของการดำรงชีวิตอาจลดน้อยลงไป
จึงเกิดกิจกรรมในวันนี้ขึ้น เห็นได้จากเด็กๆตื่นตาตื่นใจมาก "บ้านครูธานี"แห่งนี้เป็นสถานที่ ที่มีกลิ่นอาย ความเป็นธรรมชาติ ความเรียบง่ายทั้งการอยู่การกิน สร้างความสนุกแบบหยุดไม่อยู่ตลอดวัน ทั้งการ "สัมผัสวิถีชีวิตไทย" จากเรื่องใกล้ตัวอย่าง ที่อยู่อาศัย อาหาร รวมถึงการดำรงชีวิตแบบชาวชนบท เช่น ขูดมะพร้าว โม่แป้งทำขนม ผาดโผนปีนต้นไม้ ก้าวย่างบนสะพานแขวน อีกทั้งยังมีการสัญจรในรูปแบบ การขี่ควาย นั่งเกวียน และขับรถกระแทะ เป็นต้น กิจกรรมอันเป็นไฮไลท์สำคัญ คือ "การปลูกข้าว" เหยียบย่ำลงไปในผืนโคลนฉ่ำน้ำ และความรู้เรื่องข้าว ได้ทดลองสีข้าว ฝัดข้าว สร้างความสนุกสนานเป็นอย่างมาก ล้วนแล้วแต่เหมาะสำหรับทุกคนทั้งเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ควรจะได้มาสัมผัสเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูใหญ่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า รอยยิ้ม และความซาบซึ้งที่มีในวันนี้ การดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่ทุกคนค้นหา เพราะมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง ตั้งใจไว้ว่า จะมีกิจกรรมเช่นนี้ให้กับลูกๆของชาวคหกรรมศาสตร์เกษตร อีกทุกๆปีอย่างแน่นอน" ครูจุไรพรกล่าวทิ้งท้าย
ด้านเจ้าบ้าน "นายธานี หอมชื่น" หรือที่รู้จักกันดีว่า ครูธานี ผู้ก่อตั้งและสร้างสรรค์แหล่งการเรียนรู้ วิถีชีวิตอย่างไทยชนบท นี้ขึ้น กล่าวว่า "รู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่วันนี้มีโอกาสได้ต้อนรับทุกท่าน ตัวผมเองเริ่มจากรากฐานต้นทุนเดิมที่มี คือเป็นครอบครัวที่มีวิถีชีวิตแบบชนบท ผสานกับหลักการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของ การทำเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ 25 ไร่นี้ ความตั้งใจของผมคือให้ทุกคนได้มาเรียนรู้สัมผัสกับธรรมชาติ เน้นเรื่องการลงพื้นที่จริง อาจดูเหมือนเป็นการเล่น แต่การเล่นคือการสร้างความจดจำที่ดี อนาคตก็มีแผนที่จะขยายในส่วนของกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ แยกเป็นสัดส่วนและอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย ทุกคนจะได้สัมผัสและเรียนรู้ด้วยการลงการปฏิบัติจริง โดยมีผมและชาวบ้านจิตอาสา ในพื้นที่มาเป็นครูสอนให้ดูเป็นแบบอย่าง เราพร้อมต้อนรับทุกคนที่ตั้งใจอยากเรียนรู้วิถีชีวิตแบบดั่งเดิมของบรรพบุรุษของไทย เห็นทุกคนมีความสุข ผมก็มีความสุขไปด้วยครับ" ครูธานีกล่าว