กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--IR PLUS
สถาบันวิทยาการตลาดทุน โดย วตท. รุ่นที่ 24 ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมอย่างไรเพื่อสูงวัยอย่างมีสุข โดยใช้ระบบกลไกตลาดทุนที่เหมาะสมสำหรับการสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการสร้างรายได้หลังเกษียณ รวมทั้ง สวัสดิการของรัฐบาลและความท้าทายของงบประมาณในปัจจุบันว่าเพียงพอหรือไม่ กำหนดจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "Wellness Aging สูงวัยมีสุข" วันพุธที่ 13 กันยายน 2560 ณ หอประชุม ศ.สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังระดมพลังเพื่อเป็นอีกเวทีที่เปิดเผยข้อมูลและทางออก ผู้ที่สนใจลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ที่ www.set.or.th
รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล ประธานฝ่ายวิชาการ สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 24 และหัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 24 ร่วมกับสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "Wellness Aging สูงวัยมีสุข" ในวันพุธที่ 13 กันยายน 2560 ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคาร C ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นอีกเวทีหนึ่งในการนำเสนอข้อมูลให้ทุกคนเกิดความเข้าใจ รวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการออมเงินเพื่อวัยเกษียณด้วยกลไกตลาดทุน โดยแบ่งหัวข้องานสัมมนาในครั้งนี้ออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ สวัสดิการ นโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมการก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมั่นคง, การชะลอวัยจากการมีชีวิตที่มีคุณภาพ และ กลไกตลาดทุนสู่การเสริมสร้างความมั่นคงของผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอัตราที่รวดเร็ว โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ณ สิ้นปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2568 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในอีก 18 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2578) โดยประมาณการว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ
การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวสามารถทำได้ในหลายระดับและหลายรูปแบบ นอกเหนือจากหลักประกันด้านรายได้ในการดำรงชีวิตหลังเกษียณจากรัฐบาล ทั้งในรูปแบบของบำเหน็จบำนาญ, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ โดยในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณดังกล่าวรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท (ร้อยละ 2 ของ GDP หรือร้อยละ 12 ของงบประมาณ) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต มุ่งหวังให้ระบบการออมเพื่อการเกษียณมีความยั่งยืนและเพียงพอแก่ประชาชน แต่จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เรียกว่าสภาวะปกติใหม่ (New normal) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของการออมในรูปแบบดั้งเดิม อาทิ การฝากเงินกับสถาบันการเงินอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เกิดผลกระทบต่อการออมของประชาชนที่มีความรู้ ความเข้าใจทางการเงินต่ำ และมีข้อจำกัดของการเข้าถึงการลงทุนในตลาดทุน ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างมากของงานสัมมนาในครั้งนี้ เพราะไม่เพียงแต่สร้างการตระหนักรับรู้ให้เห็นความสำคัญของการออมเพื่อเกษียณอายุให้เกิดขึ้น แต่ต้องทำควบคู่กับการสร้างและส่งเสริมให้เกิดแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม สำหรับการสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการสร้างรายได้หลังเกษียณอายุแก่ประชาชนในวงกว้าง ขณะที่ตลาดทุนยังได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งของสังคมสูงวัยให้มาลงทุนในตลาดทุน ส่งผลต่อโอกาสต่างๆ อาทิ การเพิ่มมูลค่าตลาด การเพิ่มสภาพคล่อง การเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน เป็นต้น
คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 24 ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 12 ท่านมาเป็นวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้ ด้วยความท้าทายในการลดปัญหาการออมต่ำ ออมไม่เป็น และผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถรองรับผู้สูงวัยอย่างแท้จริง และมุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจประเด็นปัญหา ผลกระทบ ต่อความเพียงพอของการออม เพื่อสูงวัยมีสุขในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2560 หรือจนกว่าที่นั่งเต็มผ่านช่องทาง www.set.or.th