คณะกรรมการตลท.กำหนดสัดส่วนรายย่อยบจ.ใหม่เป็นร้อยละ 20 พร้อมกำหนด 3 มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 31, 2001 08:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นางภัทรียา เบญจพลชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการประชุมประจำเดือนกรกฎาคม 2544 ได้มีมติให้ปรับปรุงข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการกระจายการถือหุ้นรายย่อยของบริษัทจดทะเบียนใหม่ พร้อมกำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์ดำเนิน 3 มาตรการ เพื่อระงับพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติ ได้อย่างทันเหตุการณ์และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
1. ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการกระจายการถือหุ้นรายย่อยของบริษัทจดทะเบียน
ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้มีมติปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นรายย่อยสะท้อนถึงจำนวนหุ้นที่สามารถหมุนเวียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยได้กำหนดคำนิยามของผู้ถือหุ้นรายย่อยให้เหมาะสมขึ้นนั้น
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เห็นควรให้มีการปรับปรุงข้อกำหนดตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทจดทะเบียน เพื่อกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย ดังนี้
1. ปรับปรุงนิยามของผู้ถือหุ้นรายย่อยใหม่ เป็นดังนี้
ผู้ถือหุ้นรายย่อย ให้หมายถึงผู้ถือหุ้นที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหมุนเวียนซื้อมาขายไปเท่านั้น มิได้เป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมหรือถือหุ้น เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholders) โดยผู้ถือหุ้นที่เข้าข่าย Strategic Shareholders ประกอบด้วย
1.1. รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ
1.2. คณะกรรมการบริษัท รวมถึงบุคคลและสมาชิกในครอบครัวที่มีความเกี่ยวกันใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นคณะกรรมการบริษัท
1.3. ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนชำระแล้วขึ้นไป โดยนับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ทั้งนี้ไม่รวม บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จ / บำนาญ
1.4. ผู้ถือหุ้นที่ไม่เข้าข่ายตามข้อ 1.1-1.3 แต่มีเหตุอันทำให้เชื่อได้ว่าถือครองหุ้นในลักษณะ Strategic Holdings
2. ปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่ โดยให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่ ต้องกระจายการถือหุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 10-20 ของทุนชำระแล้ว เป็น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว โดยตลาดหลักทรัพย์จะผ่อนผันระยะเวลาการกระจายให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนชำระแล้ว 10,000 ล้านบาท ขึ้นไปตามความเหมาะสม
3. ปรับปรุงเกณฑ์ดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนใหม่ โดยบริษัทจดทะเบียนที่จะดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ ต้องมีผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่ต่ำกว่า 150 รายและถือหุ้นรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้ว (จากเดิมที่กำหนดไว้ร้อยละ 10)
4. ปรับปรุงเกณฑ์การเพิกถอนหลักทรัพย์ใหม่ โดยภายใต้หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่นี้ บริษัทจดทะเบียนจะเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หากมีผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยกว่า 150 ราย หรือถือหุ้นรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้วเป็นเวลา 2 ปีการเงินติดต่อกัน
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะให้เวลาบริษัทจดทะเบียนแก้ไขคุณสมบัติด้านการกระจายการถือหุ้นให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนใหม่เป็นเวลา 1 ปี หากบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถแก้ไขได้ ตลาดหลักทรัพย์จะกำหนดให้บริษัทดังกล่าวทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะ Call Market หรือการจับคู่ซื้อขายหลักทรัพย์แบบกำหนดเวลาที่แน่นอน จนกว่าจะแก้ไขคุณสมบัติได้ครบถ้วน จึงจะย้ายกลับไปสู่หมวดเดิม โดยจะพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าวของบริษัทจากรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยเริ่มจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นที่เข้าข่ายเป็น Strategic Shareholders ต่อตลาดหลักทรัพย์ได้
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติผ่อนผันเกณฑ์การพิจารณาการกระจายรายย่อย ให้บริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ โดยการเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งไม่ถูกกำหนดให้บริษัทดังกล่าวต้องจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะนำเสนอข้อกำหนดเกี่ยวกับการการจายการถือหุ้นดังกล่าว เพื่อขออนุมัติจากสำนักงาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อไป
2. ให้ความเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการให้ตลาดหลักทรัพย์เพิ่มมาตรการเพื่อการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด และพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าจะมีการปั่นหุ้น เพื่อให้สามารถระงับพฤติกรรมดังกล่าวได้อย่างทันเหตุการณ์ และตรงกลุ่มเป้าหมาย 3 มาตรการดังนี้
ในกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบในเบื้องต้น และมีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่ามีลูกค้ากระทำพฤติกรรมที่ทำให้การซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ตลาดหลักทรัพย์จะห้ามไม่ให้บริษัทสมาชิกส่งคำสั่งซื้อขายของลูกค้ารายดังกล่าวเพื่อทำการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วันทำการ
- หากตลาดหลักทรัพย์เห็นได้ว่ามีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้เกิดสภาพผิดปกติในหลักทรัพย์นั้นๆ ประกอบกับสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อระบบการซื้อขายโดยรวม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายอย่างรุนแรง และมีการกระจุกตัวของมูลค่าการซื้อขายในหลักทรัพย์นั้นมาก เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อระบบการซื้อขายโดยรวม ตลาดหลักทรัพย์จะให้บริษัทสมาชิกห้ามลูกค้าทำการซื้อขายแบบ Net Settlement หรือการซื้อขายในลักษณะมาร์จิ้น หรือการขายชอร์ตอย่างใดอย่างหนึ่งหรือประกอบกัน และให้ซื้อขายด้วยวิธีเงินสดเป็นการชั่วคราว
- หากตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 แล้ว หากยังเห็นว่าสภาพการซื้อขายที่ผิดปกตินั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงต่อระบบการซื้อขายแก่ตลาดหลักทรัพย์โดยรวม ตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินการห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นเป็นการชั่วคราว (SP : Suspension)
ทั้งนี้ ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์จะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์จะนำเสนอมาตรการดังกล่าว เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก่อนดำเนินการต่อไป
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสารนิเทศ
ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร.229-2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร.229-2037
จิวัสสา ติปยานนท์ โทร.229-2039--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ