กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2560 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ในหัวข้อ "ทะลุมิติเศรษฐกิจการคลัง" เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ และมีผู้ร่วมงานกว่า 700 คน
ว่า ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ ร่วมคิดเพื่อเศรษฐกิจมิติ "ใหม่" โดยได้รับเกียรติจาก (1) นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย (2) นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (3) นายวัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคมสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) และ (4) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าร่วมการเสวนา โดยมีนางสาวกมลชนก พุคยาภรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปได้ ดังนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช ได้กล่าวถึง "เทคโนโลยีแบบยั่งยืน" ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ใช้บริการ เช่น เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน FinTech เป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมเนื่องจาก FinTech ตอบโจทย์การใช้จ่ายแบบ e-Payment ของประชาชน ต้นทุนที่ประหยัด และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สำหรับประเทศไทย โครงการ National e-Payment ของภาครัฐตอบโจทย์รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไปทั้งของผู้ประกอบการและประชาชนที่เป็นผู้บริโภค และส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทในการส่งเสริมการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในระดับฐานราก สำหรับโอกาสในการเติบโตของ FinTech ในประเทศไทยในอนาคต โดยต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างระบบการเงินแบบเดิมของธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการ FinTech รายใหม่ ซึ่งจะถือเป็นความท้าทายในอนาคตของบทบาทของภาครัฐที่จะมีนโยบายในการส่งเสริม และกำกับดูแล FinTech ต่อไป
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) การเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) และ 2) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ซึ่งทำให้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสังคมเมืองและเทคโนโลยีที่ต้องตอบสนองต่อการอยู่ร่วมกันของคนหลาย ๆ วัย เทคโนโลยีที่สำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจ เช่น ระบบดิจิทัล (บล๊อคเชน บิทคอยส์) ระบบอัจฉริยะ (AI) เทคโนโลยีเพื่อการบริการ เทคโนโลยีด้านการสื่อสารผ่านสัญญาณแสงที่เรียกว่า Li-Fi เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ และ ทำให้บางอาชีพสูญหายไปจากระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ซึ่งแต่ละองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ประเทศไทยควรสร้างทรัพยากรที่ตนเองมีให้เกิดมูลค่าเพิ่มด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วม เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร และการตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เพื่อสร้างความได้เปรียบ
ให้กับตนเอง เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ความท้าทายของไทยคือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างสูงสุด เช่น ประเทศไทยมีข้าวพันธุ์ดีอยู่มาก ซึ่งจำเป็นต้องสร้างอัตลักษณ์ (Unique) ผลิตภัณฑ์ข้าวให้โดดเด่น จากความหลากหลายทางชีวภาพนั้น และความสามารถในการแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของไทยภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในโลกเทคโนโลยีคือ
1) ความสามารถในการขยายตลาดของผู้ประกอบการไทยมีจำกัด มีเพียงผู้ประกอบการส่วนน้อยที่สามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลก และ 2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยังมีน้อย โดยเฉพาะการลงทุนในบุคคลากร และเครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายวัชระ เอมวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจ Start Up ได้มีการเติบโตมากในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับ Start Up ของประเทศไทยถือเป็นพัฒนาการริเริ่มที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งอุปสรรคในปัจจุบันของกลุ่ม Start Up ในประเทศไทย ได้แก่ 1) ขาดการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 2) การจะเป็น Start Up ที่ประสบความสำเร็จได้ผู้ประกอบการจะต้องเป็นนักพัฒนาสามารถริเริ่มและมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตัวเอง (Developer) มากกว่าการทำธุรกิจตามกระแส และ 3) ธุรกิจ Start Up ในไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งควรให้ความสำคัญในการตอบสนองกับความต้องการของตลาดในประเทศให้ได้ก่อน ทั้งนี้ ภาครัฐควรที่จะมีนโยบายสนับสนุนกลุ่ม Start Up เช่นกันผ่านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และด้านแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ กลุ่ม Start Up จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค และควรจะสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศได้ และในอนาคต ธุรกิจของประเทศใหญ่ ได้แก่ จีน เข้ามาแข่งขันในตลาดในไทย ซึ่งจะเป็นความท้าทายของกลุ่ม Start Up ไทยที่จะต้องเตรียมตัวรองรับการแข่งขันทางธุรกิจที่มากขึ้นให้ได้
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็วที่จะเข้ามาพลิกโฉมให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจและภาคการคลังไทยในอนาคต โดยกระทรวงการคลัง ได้มีการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ National e-Payment ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านภาษีและการใช้จ่ายของภาครัฐ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีการใช้ฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการแบบถูกฝาถูกตัว เป็นต้น ทั้งนี้ ในระยะต่อไป การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการคลัง จะเป็นไปในลักษณะของการสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ให้สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมให้บุคลากร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ประชาชน และผู้กำกับดูแล มีความรู้ ความเข้าใจในประโยชน์และความเสี่ยงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสามารถนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ด้วยความเชื่อมั่นปลอดภัยได้
การเสวนาในช่วงบ่ายนี้สามารถสรุปได้ว่า เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมาก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านเกิดเป็นความท้าทายต่อผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม วิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย (Policy maker) ทำให้การดำเนินนโยบายการคลังการเงินในอนาคตจำเป็นต้องรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น และคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสร้างรากฐานให้เศรษฐกิจไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน