กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทยในปัจจุบัน" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทย ในปัจจุบัน การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ เช่น การฆาตกรรม การทะเลาะวิวาท การข่มขืน หรือกระทำชำเราทางเพศ การปล้น ชิงทรัพย์ หรือก่อความ ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.32 ระบุว่า มีความรุนแรงมาก เพราะ สภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนไป เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนเครียดกันมากขึ้น อารมณ์รุนแรงขึ้น สภาพจิตใจที่เสื่อมลง ขาดศีลธรรม ไม่มีจิตสำนึก เกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และผู้ที่ก่อเหตุมีอายุลดน้อยลง อีกทั้งยังมีวิธีการที่รุนแรงและโหดเหี้ยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดู ของครอบครัว ผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาให้ กฎหมายอ่อนแอ ไม่เด็ดขาด สังคมไทยอ่อนแอ และบางส่วนระบุว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้ามาในไทย มากขึ้น และขาดการควบคุม รองลงมา ร้อยละ 41.52 ระบุว่า มีความรุนแรงค่อนข้างมาก เพราะ สังคมไทยทุกวันนี้เปลี่ยนไป กฎหมายบ้านเมืองอ่อนแอ ไม่เด็ดขาด คนจึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย กล้าที่จะก่อเหตุมากขึ้น พื้นฐานครอบครัวที่ขาดการเลี้ยงดู หรือขาดความเอาใจใส่ สภาพจิตใจ ของคนที่เสื่อมลง ใจร้อนมากขึ้น ขาดการควบคุม นอกจากนี้ยังระบุว่า เป็นเพราะ ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยาเสพติด การแต่งกายของผู้หญิงที่ล่อแหลม มีการก่อเหตุอาชญากรรมแทบรายวัน ซึ่งสมัยก่อนมีการก่ออาชญากรรมไม่เยอะเหมือนในปัจจุบัน และสื่อทุกวันนี้เข้าถึงได้ง่าย จึงเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ร้อยละ 4.32 ระบุว่ามีความรุนแรงค่อนข้างน้อย เพราะ เจ้าหน้าที่เข้มงวดมากขึ้น เทียบกับสถิติเก่า ๆ ถือว่าลดลง เหตุการณ์แบบนี้มีมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมากขึ้นเลยดูเหมือนรุนแรง ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้วประเทศไทยถือว่ายังมีความรุนแรงที่น้อยกว่า ร้อยละ 0.64 ระบุว่า ไม่มีความรุนแรงเลย เพราะ สถานการณ์ปัจจุบันเป็นปกติ และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.80ระบุว่า เกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ชีวิต ความเป็นอยู่ และเทคโนโลยี รองลงมา ร้อยละ 44.32 ระบุว่า เกิดจากความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ผู้กระทำผิดจึงไม่เกรงกลัว จึงได้ใจและกล้าที่จะกระทำผิด ร้อยละ 42.72 ระบุว่า เกิดจากจิตใจของผู้คนที่มักขาดสติ ไม่ใช้สติในการแก้ไขปัญหา ขาดศีลธรรม ร้อยละ 34.80 ระบุว่า เกิดจากพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่แตกต่างกัน ร้อยละ 33.04 ระบุว่า เกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบจากสื่อหรือคนรอบข้าง ร้อยละ 22.32 ระบุว่า เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ร้อยละ 0.96 ระบุว่า เกิดจากการใช้ยาเสพติด และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทยในปัจจุบันที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.64 ระบุว่า การข่มขืนกระทำชำเราทางเพศ รองลงมา ร้อยละ 23.60 ระบุว่า การฆาตกรรม ร้อยละ 15.52 ระบุว่า การก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดน ร้อยละ 10.00 ระบุว่า การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 8.08 ระบุว่า การปล้น ชิงทรัพย์ ร้อยละ 2.80 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ขณะที่บางส่วนระบุว่าทุกปัญหาควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ร้อยละ 2.16 ระบุว่า ไม่มี/ยังมีปัญหาอย่างอื่นที่ควรเร่งดำเนินแก้ไข และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ผู้คน มีสติ ใช้ปัญญาในการแก้ไขกับปัญหา รู้จักผิดชอบ ชั่วดีให้มากขึ้น เพื่อลด "อาชญากร" ในสังคมไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.40 ระบุว่า ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา รองลงมา ร้อยละ 46.16 ระบุว่า ควรเริ่มที่การเลี้ยงดู การเอาใจใส่ การปลูกจิตสำนึกของครอบครัว ร้อยละ 29.68 ระบุว่า เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ร้อยละ 28.96 ระบุว่า ใช้หลักธรรมะในการดำเนินชีวิต มีสติ มีน้ำใจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธแค้น ไม่โลภ หรือคิดปองร้ายผู้อื่น ร้อยละ 25.84 ระบุว่า พัฒนาระบบการศึกษา การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของการก่ออาชญากรรม ร้อยละ 15.84 ระบุว่า ควรช่วยเหลือ บำบัด ฟื้นฟูจิตใจ สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติในด้านจิตใจและอารมณ์ และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.00 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 53.12 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.80 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 17.52 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.44 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.68 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.00 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 89.76 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 4.00 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.52 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.72ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 22.56 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 66.40 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.44 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 5.60 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.52 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.28 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.24 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.80 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.16 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 6.00 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 12.40 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.36 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.64 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.96 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.80 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.88 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.24 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวง หากำไร และร้อยละ 6.32 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.76 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.08 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.64 ไม่ระบุรายได้