กทม.เป็นเจ้าภาพจัดประชุม CITYNET ระดมความคิดพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง

ข่าวทั่วไป Monday October 22, 2001 10:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กทม.
กรุงเทพมหานครร่วมกับองค์การสหประชาชาติ และองค์การเครือข่ายความร่วมมือส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (CITYNET) จัดการประชุม "CITYNET BANGKOK CONGRESS 2001" ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2544 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 44 เวลา 11.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการแถลงข่าว เรื่อง "การจัดการประชุม CITYNET BANGKOK CONGRESS 2001" โดยมี นางณฐนนท ทวีสิน รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายพงษ์ศักดิ์ เสมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กทม. พร้อมด้วย Mr.Adnan H.Aliani ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ ร่วมแถลงข่าว
ระดมมันสมองผู้นำเมืองเอเชีย-แปซิฟิคหาวิธีแก้ไขปัญหาเมือง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า CITYNET เป็นองค์การเครือข่ายความร่วมมือส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ซึ่งโดยปกติจะมีการประชุมสภาองค์การ (CITYNET CONGRESS) ทุก 4 ปี หมุนเวียนกันไปในประเทศสมาชิก และมีการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การทุกปี โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาตนได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง VICE PRESIDENT ขององค์การ เพื่อหารือถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ การประชุม CITYNET BANGKOK CONGRESS 2001 เป็นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ซึ่งจะมีสมาชิกองค์การ CITYNET จำนวน 119 ราย ประกอบด้วย ผู้ว่าการนครและนายกเทศมนตรีจาก 66 เมืองในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิค องค์การระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) รวมทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยมาร่วมในการประชุมใหญ่ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน เพื่อจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม ในอนาคต และเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการบริหารและแก้ไขปัญหาเมือง โดยจะมีการจัดกลุ่มพูดคุยกันในประเด็นสำคัญ 9 กลุ่มด้วยกัน ทั้งนี้ทุกๆ เมืองต่างก็มีปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เช่น ปัญหาการบริหารเมือง การกระจายอำนาจ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ปัญหาผู้ยากไร้ในเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาจราจร ฯลฯ ซึ่งแต่ละเมืองต่างก็มีวิธีแก้ไขปัญหาต่างกันออกไป การได้แลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้จะนำไปสู่แนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขและพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ประชุม 9 กลุ่มย่อย เปิดโอกาสผู้นำเมืองแลกเปลี่ยนประสบการณ์
นางณฐนนท ทวีสิน รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า องค์การ CITYNET เป็นองค์การที่ก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะสร้าง "ความร่วมมืออย่างเป็นเครือข่าย" ระหว่างเมืองในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิค มีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเมือง เพื่อพัฒนาเมืองในภูมิภาคนี้ให้มีความเป็น People-friendly Cities หรือเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับประชาชน ในการประชุมในครั้งนี้ ทางองค์การ CITYNET ได้แบ่งการประชุมออกเป็น 8 กลุ่มย่อย มีหัวข้อการประชุมหลากหลายซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเมือง ได้แก่ ชุมชนร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเสวนาระหว่างเอเชียและยุโรปหัวข้อความร่วมมือในการกระจายอำนาจด้านการจัดการเมืองสู่ท้องถิ่น การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งของเมือง การบริหารจัดการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายให้เมืองได้เข้าถึงแหล่งความรู้และทรัพยากร การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างส่วนปกครองท้องถิ่นกับสตรีผู้นำชุมชน การขยายบริการสู่ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง และการสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก หรือ "เมืองเพื่อนเด็ก" และปัญหา HIV กับเมือง ทั้งนี้รูปแบบกลุ่มย่อยจะเปิดโอกาสให้ผู้นำเมืองได้ร่วมระดมสมอง นำประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเมืองของตนมาบอกเล่าให้ผู้นำเมืองอื่นได้ศึกษา รวมทั้งเพื่อให้มีการอภิปรายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆอย่างทั่วถึง อันจะทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จตามเจตนารมย์ของการประชุมทุกประการ
CITYNET : โอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างเมือง
ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CITYNET ครั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะได้รับประโยชน์ในหลายด้าน คือ ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการบริหารเมือง เนื่องจากผู้นำที่เข้าร่วมประชุมมาจากหลายเมืองที่ได้รับการยอมรับว่ามีการบริหารจัดการเมืองที่ดีในหลายด้าน เช่น ด้านการจัดการคมนาคมขนส่งในเมือง การจัดการที่อยู่อาศัย การจัดการขยะมูลฝอย - น้ำเสีย ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งหลายเมืองยังมีความก้าวหน้าด้านการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้ในกิจการต่างๆ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะนำประสบการณ์เหล่านี้มาปรับใช้เพื่อพัฒนางานของกรุงเทพมหานครต่อไป นอกจากนี้ยังนับเป็นโอกาสอันดีที่ ผู้นำจากหลายเมือง และผู้แทนองค์การต่างๆ ที่มาประชุมพร้อมกันในครั้งนี้ จะได้เจรจาแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านวิชาการ เทคโนโลยี และการค้าการลงทุน อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ประเทศที่ยังต้องการการพัฒนาได้เสนอขอความ ช่วยเหลือจากประเทศที่มีความเจริญกว่า หรือจากองค์การสากลต่างๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ
เผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างช่องทางตลาดต่างประเทศ
สำหรับประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ขณะนี้ กรุงเทพมหานครกำลังผลักดันให้สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในช่วงที่มีการประชุมฯ กรุงเทพมหานครจะจัดนิทรรศการผลงานของชุมชน 50 เขต ณ ห้องโถงชั้นล่างของศูนย์การประชุมสหประชาชาติ เพื่อเผยแพร่ผลงาน กิจกรรมการพัฒนาชุมชนในกรุงเทพฯ และผลิตภัณฑ์ของดีของชุมชน ซึ่งเป็นสินค้าศิลปหัตถกรรมที่อยู่ในความสนใจของตลาดต่างประเทศ เช่น ผ้าไหม ดอกไม้ประดิษฐ์ งานฝีมือแกะสลัก ของจิ๋ว ฯลฯ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ www.bangkokcommunitymall.com ซึ่งชาวต่างชาติสามารถเข้าไปชมและสั่งซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนทางอินเตอร์เน็ตได้
จัด 3 เส้นทางท่องเที่ยว นำชมวิถีไทยและความทันสมัยของเมือง
ประโยชน์อีกด้านหนึ่งที่กรุงเทพมหานครจะได้รับก็คือด้านการท่องเที่ยว ในวันที่ 2 ต.ค. 44 กทม. ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยว 3 เส้นทางต้อนรับผู้นำเมือง โดยเส้นทางที่ 1 ดูงานรถไฟฟ้า BTS เยี่ยมชมตลาด อตก. และตลาดจตุจักร เส้นทางที่ 2 เที่ยวงานราษฎร์บูรณะแฟร์ ดูงานสำนักงานเขตทวีวัฒนา ล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลอง และเที่ยวสวนสามพราน เส้นทางที่ 3 ศึกษาดูงานโรงบำบัดน้ำเสียสี่พระยา และชมความงามของพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้ ในคืนวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งเป็นคืนลอยกระทง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเมืองบนเรือเจ้าพระยา ริเวอร์ ครูซ และเชิญผู้นำเมืองร่วมงานประเพณีลอยกระทงบริเวณใต้สะพานพระราม 8 การจัดเส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าวเป็นการแสดงให้ผู้นำเมืองได้เห็นถึงความผสมผสานกลมกลืนระหว่างการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยและความก้าวหน้าทันสมัยของเมือง รวมถึงความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคของ กทม. ทั้งนี้ เมืองในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิคมีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน จึงเอื้ออำนวยต่อการเชื่อมเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน เป็นอย่างยิ่ง
รองนายกฯ ตอบรับเปิดการประชุม CITYNET
ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกทม. กล่าวถึงกำหนดการประชุม CITYNET ว่าพิธีเปิดการประชุมจะมีในวันที่ 29 ต.ค.44 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้น ประธานองค์การ CITYNET รองนายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮาม่า และเลขาธิการองค์การ UNESCAP จะกล่าวสุนทรพจน์แก่ผู้เข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดการประชุมและเปิดนิทรรศการผลงานชุมชน 50 เขต จากนั้นเป็นพิธีแถลงข่าว เวลา 10.30 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงจัดสรรและพัฒนาที่ดินของอินโดนีเซีย เป็นแขกพิเศษกล่าวเปิดประเด็นหัวข้อการประชุม (Keynote Speech) ก่อนจะเข้าสู่การอภิปรายวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมโดยองค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบในการจัดประชุม ในภาคบ่ายจะเริ่มการประชุมกลุ่มย่อยและการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การ CITYNET ส่วนช่วงค่ำ เวลา 19.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับผู้นำเมือง ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง
1 พ.ย.ประชุมเลือกตั้งประธาน CITYNET คนใหม่และเมืองเจ้าภาพการประชุมคราวหน้า
ในวันที่ 30 ต.ค.44 จะมีประชุมกลุ่มย่อยและการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การ CITYNET ตลอดวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 16.30 น. และในช่วงค่ำ เวลา 18.30 กรุงเทพมหานคร และ Asia-Urbs Secretariat เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเมือง ณ โรงแรมธารา ถนนสุขุมวิท 26 สำหรับการประชุมวันที่ 31 ต.ค.44 ภาคเช้าเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ส่วนภาคบ่าย เวลา 13.30 น. ผู้แทนกลุ่มจะสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อย กลุ่มละ 15 นาที เวลา 15.45 น. เป็นการสรุปผลการประชุม CITYNET โดยเชิญสื่อมวลชนร่วมรับฟัง จากนั้นเป็นพิธีปิดการประชุม ในช่วงค่ำ เวลา 19.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเมือง บนเรือเจ้าพระยา ริเวอร์ ครูซ และเชิญผู้นำเมืองร่วมงานลอยกระทง บริเวณสะพานพระราม 8
ในวันที่ 1 พ.ย.44 จะมีการประชุมสมาชิกสภาสามัญองค์การ CITYNET 119 ราย ตั้งแต่ 09.00-14.30 น. ซึ่งการประชุมในวันดังกล่าว จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารองค์การ CITYNET ชุดใหม่ โดยสมาชิกจะร่วมกันเลือกประธานองค์การ CITYNET ขึ้นใหม่ พร้อมรองประธาน 2 ตำแหน่ง และกรรมการอีก 8 ตำแหน่ง รวมทั้งร่วมกันเสนอและเลือกเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CITYNET ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 6) ซึ่งจะจัดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า เวลา 14.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานแถลงข่าวผลการประชุม และเวลา 19.00 น. ประธานองค์การ CITYNET เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ ณ ห้องพาร์ควิว โรงแรม อิมพีเรียล ควีนส์ พาร์ค ในวันสุดท้ายของการประชุม วันที่ 2 พฤศจิกายน เวลา 09.00 - 12.30 น. คณะกรรมการบริหารองค์การ CITYNET ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ จะประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกและในช่วงบ่ายจะไปทัศนศึกษากรุงเทพมหานคร ส่วนผู้นำเมืองที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการฯ จะเดินทางไปศึกษาดูงานและท่องเที่ยวใน 3 เส้นทางที่กรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้ตั้งแต่ 09.00-17.00 น.
ทุกหน่วยงาน กทม. พร้อมต้อนรับสร้างความประทับใจ
ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CITYNET ครั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมต้อนรับ อำนวยความสะดวก และสร้างความประทับใจแก่ผู้นำเมือง โดยจะจัดให้ผู้นำเมืองเข้าพักที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ พาร์ค ซอยสุขุมวิท 22 ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีมาตรฐานในระดับสากล และได้ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง ที่โรงแรม พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ผู้นำเมือง นอกจากนี้ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติตลอดช่วงเวลาประชุม และประจำที่โรงแรมที่พักในช่วงกลางคืน ส่วนในวันที่ผู้นำเมืองเดินทางท่องเที่ยวจะมีการจัดรถพยาบาลติดตามคณะที่เดินทางไปสวนสามพราน และจัดเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำรถอีก 2 คันที่ทัศนศึกษาในเขตกทม. รวมทั้งประสานงานให้เขตต่างๆ ที่ผู้นำเมืองมีกำหนดจะไปศึกษาดูงาน จัดเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ทางกองประชาสัมพันธ์ จะจัดตั้งศูนย์ข่าว (Press Center) ที่ศูนย์การประชุม สหประชาชาติ เพื่อให้บริการข้อมูล บริการด้านการสื่อสารและอินเตอร์เน็ตแก่สื่อมวลชนที่มาทำข่าวการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งจะจัดทำจดหมายข่าว (Newsletter) เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในฉบับเดียวกันเพื่อรายงานความเป็นไปของการประชุมแบบวันต่อวัน โดยจะแจกให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อมวลชน
เข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยผู้นำเมือง
สำหรับความพร้อมในด้านการรักษาความปลอดภัยนั้น ในช่วงระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศูนย์ประชุมสหประชาชาติจะตรวจสอบกวดขันผู้เข้าออกอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้เข้าออกในสถานที่ประชุมได้เฉพาะผู้ที่ได้แจ้งชื่อไว้ล่วงหน้าและมีบัตรที่แสดงว่าเป็นผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและสื่อมวลชนเท่านั้น รวมทั้งมีการตรวจสอบสิ่งของก่อนจะผ่านเข้าไปในสถานที่ประชุมด้วย ส่วนช่วงที่ผู้เข้าประชุมอยู่นอกศูนย์ประชุมฯ กรุงเทพมหานครได้ประสานขอความร่วมมือจากตำรวจนครบาลและได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยดูแลในเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลา
การเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในการต้อนรับ การอำนวยความสะดวก และการรักษาความความปลอดภัยให้แก้ผู้นำเมืองที่มาร่วมประชุม เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกรุงเทพมหานครในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ ทำให้ผู้มาเยือนเกิดความเชื่อมั่นและความประทับใจ และพร้อมที่จะประสานความร่วมมือด้านต่างๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต
กทม.ชวนคนกรุงเป็นเจ้าบ้านต้อนรับด้วยไมตรี
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สามารถ "ขาย" ได้เพราะมีสิ่งดีงามหลายด้านที่จะอวดต่อสายตาชาวต่างประเทศ ทั้งในเรื่องการพัฒนาเมือง การพัฒนาเครือข่ายจราจรในเมือง เช่น ถนนวงแหวนรอบนอกทางด่วน แม้ยังเป็นจุดเริ่มต้นแต่เป็นการเดินถูกทางแล้ว ซึ่งกทม.จะต้องพัฒนาต่อไป นอกจากนี้ในด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่เป็น เอกลักษณ์ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่คนต่างเมือง ด้านงานประดิษฐ์ประดอยสิ่งของต่าง ๆ งานหัตถกรรมโดยฝีมือชาวบ้านยิ่งเป็นที่ชื่นชมของต่างชาติ เช่นเดียวกับอาหารไทยกำลังเป็นที่นิยมของต่างชาติเป็นอย่างมาก
"บุคคลสำคัญที่จะมาร่วมประชุมในครั้งนี้ ก็เหมือนกับแขกที่มาเยี่ยมเยือนบ้านเรา ดังนั้นเราจึงต้องจัดเตรียมบ้านช่องของเราต้อนรับผู้มาเยือนให้ได้รับความสะดวกสบาย และพาเขาไปเที่ยวชมสิ่งดี ๆ ที่บ้านเรามี ให้เขาได้ความประทับใจกลับไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของเมือง การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจที่ดีในอนาคต" ผู้ว่าฯกทม. กล่าว--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ