ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ พ.ร.บ.บัตรเครดิตช่วยลดปัญหาการทุจริตได้

ข่าวทั่วไป Wednesday September 20, 2000 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ ร่าง พ.ร.บ.ที่จะประกาศใช้สามารถลดปัญหาการทุจริตและความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ปีละประมาณ 150 ล้านบาท แต่ระหว่างที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ สถาบันการเงินควรจะต้องสร้างความเข้าใจกับทั้งร้านค้า ผู้ใช้บัตรให้มีความเข้าใจและระมัดระวังการปลอมแปลงและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้วิเคราะห์ถึงร่างพระราชบัญญัติบัตรเครดิตของไทยในหัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิต : ป้องปรามการทุจริต ลดความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดในเรื่องบัตรเครดิตในประเทศไทยนั้นยังไม่มี จึงต้องใช้กฎหมายเทียบเคียงซึ่งบางครั้งไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้โดยตรง ทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมายและเอื้อต่อการทุจริต จนกระทั่งมีความสูญเสียเกิดขึ้นระหว่างปี 2539—2542 โดยเฉลี่ยประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติบัตรเครดิต ฉบับที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2543 จึงนับเป็นจุดสำคัญของการเริ่มต้นควบคุมความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมีสาระครอบคลุม ตั้งแต่การป้องกันการทุจริต ซึ่งแม้จะยังไม่ก่อความเสียหาย ก็ให้ถือว่ามีความผิดแล้ว อีกทั้งยังกำหนดระยะเวลาของการฟ้องร้องคดีบัตรเครดิตให้นานขึ้น จากเดิมไม่เกิน 2 ปี เป็นมีอายุความไม่เกิน 5 ปี
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจัดให้มีหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าธรรมเนียม ให้เป็น มาตรฐานเดียวกันในแต่ละสถาบันผู้ออกบัตร ซี่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของต้นทุนค่าใช้จ่ายแต่ละบัตรได้เด่นชัดขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงการควบคุมความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต และบทลงโทษที่มีความเข้มงวดเพียงพอ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตทุกราย ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และดำรงทุนตามที่กฎหมายกำหนด หากพบว่าผู้ออกบัตรกระทำการไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือบัตร หรือมีฐานะในลักษณะที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงต่อผู้ถือบัตร ให้รัฐมนตรีคลังสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มในอนาคตที่ E-Commerce จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น บัตรเครดิตจะเข้ามาเป็นสื่ออำนวยความสะดวกในการเป็นเครื่องมือชำระเงิน ในขณะที่การสื่อสารผ่าน อินเทอร์เน็ตยังไม่มีระบบป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกรอบกฎหมายดูแล หากมีการล้วงข้อมูลโดยมิชอบ และสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติบัตรเครดิตยังไม่มีผลบังคับใช้ สถาบันผู้ออกบัตรควรจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ใช้บัตร ร้านค้ารับบัตร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสถาบันผู้ออกบัตรเอง ให้ทราบถึงแนวทางป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้น โดยในส่วนของผู้ถือบัตรเองก็จะต้องมีความระมัดระวังในการใช้บัตร การเก็บรักษาบัตรให้ปลอดภัยให้ดีที่สุด ส่วนร้านค้ารับบัตร ก็ควรจะทำตามคำแนะนำของสถาบัน ผู้ออกบัตร ในการตรวจสอบความถูกต้องของบัตรและลายมือชื่ออย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นทั้งส่วนตนและกับระบบเศรษฐกิจส่วนรวมต่อไป--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ