กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--อย.
อย.เตือนอันตรายจากสารบอแรกซ์ ที่ผู้ผลิตลักลอบผสมในอาหาร มีพิษร้ายถึงขั้นทำให้ไตล้มเหลวและตายได้ ย้ำ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหาร หากไม่แน่ใจว่ามีสารบอแรกซ์เจือปนมากับอาหารหรือไม่ ขอให้ทดสอบด้วยชุดทดสอบบอแรกซ์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สำรวจการใช้สารบอแรกซ์ในอาหาร พบว่าปัจจุบันยังคงมีการใช้สารบอแรกซ์ในปริมาณสูงซึ่งจากสถิติผลการตรวจสอบอาหารที่ผ่านมา (ปี 2541-2544) พบสารบอแรกซ์ในขนมที่จำจากแห้ง เช่น แป้งกรุบ ลอดช่องสิงคโปร์ ซ่าหริ่ม ขนมครองแครง ผลไม้ดอง เช่น มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม เนื้อสัตว์ เช่น หมู่ ไก่ เนื้อ โดยเฉพาะชนิดบด ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น หมูยอ ข้อไก่ทอด ซึ่งอาหารเหล่านี้มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลาก ไม่ระบุชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ซึ่ง อย.มีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้จำหน่ายมาโดยตลอดแต่ก็ยังมีผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายบางรายอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคนำสารบอแรกซ์ หรือที่เรียกชื่อทางการค้าว่าน้ำประสานทอง ผงกรอบ ผงกันบูด หรือเพ่งแซ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรม มาใช้ผสมในการผลิตอาหาร เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ และเป็นวัตถุกันเสีย รวมทั้งพบว่ามีการนำสารบอแรกซ์ไปละลายน้ำ แล้วทาหรือชุบเนื้อหมู่ เนื้อวัว เพื่อให้ดูสดอีกด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะสารบอแรกซ์จัดเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยไตจะเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องทำหน้าที่ขับถ่ายสารดังกล่า และหากร่างกายได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณสูง กระเพาะอาหารและลำไส้จะอักเสบ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง ตับถูกทำลาย อาจชัก หมดสติ โดยเฉพาะเด็กและคนชราอาจถึงตายได้ เนื่องจากประสาทส่วนกลางถูกกด จึงขอเตือนผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารให้เห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่าใช้สารบอแรกซ์ใส่ในอาหารโดยเด็ดขาด และโปรดระมัดระวัง อย่าเลือกอาหารที่มีลักษณะผิดธรรมชาติของอาหาร นั้นมาจำหน่าย และควรซื้ออาหารจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ หากไม่แน่ใจว่าอาหารที่นำมาจำหน่ายมีสารบอแรกซ์เจือปนอยู่หรือไม่ ควรทดสอบโดยใช้ชุดทดสอบบอแรกซ์ ซึ่งหาซื้อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ จ.นนทบุรี หากผู้ไดฝ่าฝืนผสมสารบอแรกซ์ในอาหารจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที โทษฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ จำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติผู้ป่วยโรคไตในปัจจุบันมีประมาณ 50,000 คน และที่ต้องฟอกเลือดล้างไตประมาณ 6,000 คน โดยอาจมีสาเหตุเนื่องมาจากการได้รับสารบอแรกซ์สะสมในร่างกายในปริมาณที่สูง ซึ่งตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐบาลจัดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือดล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ให้ใช้สิทธิ์รับบริการรักษา 30 บาท ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอให้ผู้บริโภคดูแลตนเองมิให้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว โดยวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยได้ คือ เลือกบริโภคอาหารที่มีลักษณะตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลัษณะหยุ่นกรอบหรือแข็งจนผิดปกติ รวมทั้งอาหารที่ไม่บูดเสียทั้งๆ ที่อยู่ในสภาวะที่ควรจะเสีย เพราะอาจมีบอแรกซ์เจือปนอยู่ และถ้าไม่แน่ใจว่าอาหารที่รับประทานมีบอแรกซ์หรือไม่ ทั้งผู้ขายและผู้บริโภค สามารถใช้ชุดทดสอบดังกล่าวข้างต้นได้เช่นกัน--จบ--
-นห-