กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจไตรมาสที่ 2/2560 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20.5 ต่อปี เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 17 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7
อัตราการขยายตัว ปี 2559 Q1/2560 Q2/2560
GDP (% yoy) 3.2 3.3 3.7
อัตราการขยายตัวการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (% yoy) 10.0 17.0 20.5
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม - กรกฎาคม 2560) ซึ่งเป็นเครื่องชี้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนของโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และโครงการระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นต้น
นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมถึงเดือนกรกฎาคม 2560 (ตุลาคม 2559 - กรกฎาคม 2560) เท่ากับ 170,839 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม โดยรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีงบประมาณเบิกจ่ายได้ 73,944 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม และรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีปฏิทินเบิกจ่ายได้ 96,895 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ รฟม. กคช. กฟน. การประปานครหลวง การท่าเรือแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมถึงเดือนกรกฎาคม 2560
รัฐวิสาหกิจ แผนลงทุนทั้งปี แผนเบิกจ่ายสะสมตั้งแต่ต้นปี ผลเบิกจ่ายสะสมตั้งแต่ต้นปี %เบิกจ่ายสะสม/แผนสะสม
1. ปีงบประมาณ จำนวน 34 แห่ง (10 เดือน) 146,589 102,937 73,944 72 %
1.1 การรถไฟแห่งประเทศไทย 59,697 45,640 19,467 43%
1.2 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 28,721 23,881 24,277 102%
1.3 การประปาส่วนภูมิภาค 13,400 6,452 6,017 93%
1.4 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 11,820 6,187 5,000 81%
1.5 การเคหะแห่งชาติ 6,321 4,956 4,965 100%
1.6 การประปานครหลวง 4,705 2,538 3,073 121%
1.7 การท่าเรือแห่งประเทศไทย 4,327 3,773 3,719 99%
1.8 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2,660 1,447 1,275 88%
1.9 โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง 2,374 1,097 1,138 104%
1.10 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 1,968 180 43 24%
1.11 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 1,722 971 886 91%
1.12 รัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ จำนวน 23 แห่ง 8,876 5,814 4,085 70%
2. ปีปฏิทิน จำนวน 11 แห่ง (7 เดือน) 199,215 107,100 96,895 90 %
2.1 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 74,019 44,946 37,247 83%
2.2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 54,758 27,501 28,278 103%
2.3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 23,954 9,115 8,624 95%
2.4 การไฟฟ้านครหลวง 16,005 4,889 4,964 102%
2.5 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 15,144 12,276 9,722 79%
2.6 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 6,800 3,570 3,559 100%
2.7 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 4,668 2,637 2,446 93%
2.8 รัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ จำนวน 4 แห่ง 3,867 2,166 2,055 95%
รวม 45 แห่ง 345,805 210,037 170,839 81 %
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวโดยสรุปว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยมีแผนงาน/โครงการที่สามารถเลื่อนการลงทุนให้เร็วขึ้น (Front-Load) นอกจากนี้ สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ที่มีผลการเบิกจ่ายลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สคร. ได้ประสานผ่านกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ เพื่อขอให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดและผลักดันโครงการที่มีผลการเบิกจ่ายสะสมล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา ให้สามารถกลับมาเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายสำหรับในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป