กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
"จากสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นทุกวันจึงทำให้เกิดกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างพร้อมใจกันให้ความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความตื่นตัวไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างอาคารใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดและการจัดการด้านพลังงานของอาคารแบบยั่งยืน ดังนั้นนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ตระหนักถึงปัญหาในปัจจุบัน จึงสร้าง"ระบบตรวจสอบและดูแลความปลอดภัยสำหรับอาคารสีเขียวอัจฉริยะ 4.0 ผ่านโทรศัพท์มือถือ" (อาคารสีเขียว 4.0) ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับถ้วยรางวัลระดับดีมาก จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2560 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ถือเป็นการการันตีผลงานที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง" รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครกล่าว
ด้านว่าที่ร.ต.อภินันท์ สุทธิสม นักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในทีมคิดระบบตรวจสอบและดูแลความปลอดภัยสำหรับอาคารสีเขียวอัจฉริยะ 4.0 ผ่านโทรศัพท์มือถือ กล่าวว่า ได้จำลองตึกขึ้นมาเหมือนจริง โดยออกแบบลักษณะของอาคารให้เป็นอาคารสีเขียว คำนึงถึงระบบแสงสว่างและการระบายอากาศภายในอาคารให้เหมาะสมกับการใช้สอยในแต่ละพื้นที่ พร้อมให้ความสำคัญของการประหยัดและการจัดการด้านพลังงานของอาคารแบบยั่งยืน ภายในอาคารใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบหลักทั้ง ๔ อย่าง คือ ระบบแสงสว่าง เฉพาะจุด ระบบระบายอากาศ ระบบพลังงานไฟฟ้า โดยนำแหล่งพลังงานจากระบบโซล่าร์เซลล์พร้อมระบบการจัดการพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบที่สามารถรองรับระบบ off-grid, on-grid และ Hybrid ซึ่งสามารถจัดการพลังงานภายในอาคารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าหลักได้อีกทางหนึ่ง สุดท้ายคือระบบการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของการใช้งานภายในอาคารจึงมีการวิเคราะห์ระบบการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยสัญญาณเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือและแนวการออกแบบเส้นทางการอพยพการหนีไฟอีกด้วย เชื่อว่าอาคารสีเขียวอัจฉริยะ ๔.๐ ชิ้นนี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ นำไปสู่การอนุรักษ์พลังงานโลกทางอ้อมควบคู่กับการคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้พื้นภายในอาคารทุกรูปแบบและสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานจริง
ขณะที่ดร.พสิษฐ์ สุวรรณภิงคาร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเล่าเสริมว่า ระบบที่ติดตั้งในตัวอาคารทั้งหมดสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ หากระบบเกิดปัญหาขัดข้องหรือมีเหตุอัคคีภัยระบบจะส่งข้อความหรือSMS เข้าโทรศัพท์มือถือเช่นกัน ผลงานนี้เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจและแสดงให้เห็นถึงความมานะในการทำโครงการนี้จนจบและสำเร็จด้วยดี ซึ่งผลงานที่ออกมาถือว่าประสบความสำเร็จ โดยนักศึกษานำความรู้จากในห้องเรียนมาปรับใช้สู่การลงมือปฏิบัติจริง และนำไปต่อยอดในอาชีพในอนาคตได้