กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--SASI PR CONSULTANT
วช. ร่วมกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนาม MOU เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่า และเป็นประโยชน์กับประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน การส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ภายในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560" โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลง โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ลงนามร่วมกับคุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและเศรษฐกิจ โดยการสร้างความรู้ใหม่ แนวทางใหม่ ทฤษฎีใหม่ หรือชิ้นงานใหม่ ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างฐานสติปัญญาในการพัฒนาให้กับประเทศได้ และหากนำไปสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ก็จะก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งอาจเป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงินโดยตรงก็ได้ ดังนั้นการพัฒนาให้ผลงานที่เกิดจากการวิจัย และการประดิษฐ์คิดค้นได้ถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงให้นำไปสู่นวัตกรรมก็สามารถสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) ขึ้นมาได้ ซึ่งนโยบายรัฐบาล นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำประเทศไปสู่ "ประเทศไทย 4.0"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากความสำคัญในการพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น วช. ได้ให้การสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่า คุณค่าอันเป็นประโยชน์กับประเทศ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและการพัฒนาต่อยอด การสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาปรากฏผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง และเพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยใช้การวิจัย และนวัตกรรมโดยให้ความสำคัญกับการผลักดันการวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินการ
ในระยะแรกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการนำผลงานที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ งาน "45th International Exhibiton of Inventions Geneva" ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จำนวน 2 ผลงาน คือ ผลงานเรื่อง "ชุดควบคุมการติดตามดวงอาทิตย์ 2 แกน" จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผลงานเรื่อง "ระบบแจ้งเตือนการทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ในโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มเพื่อให้ประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าสูงสุด" จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มาเป็นโครงการนำร่องในการดำเนินการ
ความสำเร็จของ 2 ผลงานนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการผลักดันและยกระดับให้ผลผลิตจากผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ต่อไป