กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
ไมโครซอฟท์ยอมจ่ายซัน 20 ล้านเหรียญสหรัฐๆ ตามข้อตกลง
ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ประกาศว่า บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ได้ตกลงคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีจาวา โดยยินยอมจ่ายเงินให้แก่ซัน มากกว่า 900 ล้านบาท หรือ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมยอมรับการยุติสัญญาให้ใบอนุญาตตามข้อตกลงที่กระทำก่อนหน้านี้ และยอมรับคำสั่งศาลห้ามใช้เครื่องหมายการค้าจาวาคอมแพททิเบิล (JAVA COMPATIBLE trademark) ของซัน
ซัน ได้ให้ใบอนุญาตแก่ไมโครซอฟท์ในการจัดจำหน่ายซอฟท์แวร์เวอร์ชั่นปัจจุบันของซัน เพื่อคุ้มครองนักพัฒนาที่ใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์รุ่นเก่าซึ่งพัฒนามาจากเทคโนโลยีของซัน โดยซอฟท์แวร์ในอนาคตที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจะต้องผ่านการทดสอบความสามารถใช้งานร่วมกันกับแพลทฟอร์มต่างๆ และเป็นไปตามมาตรฐานตามที่ซันกำหนดไว้
สก็อต แม็คนีลลีย์ ประธานและซีอีโอของซันฯ เปิดเผยว่า “นี่คือชัยชนะสำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตและผู้บริโภค ชุมชนต้องการเทคโนโลยีจาวาแบบเดียว ยี่ห้อเดียว ขั้นตอนเดียว และอยู่บนโครงสร้างที่ยอดเยี่ยมอันเดียว ซึ่งเราก็ได้ทำสำเร็จแล้ว โดยข้อตกลงดังกล่าวจะปกป้องคุณค่าและดำรงความเป็นเทคโนโลยีจาวาของซันต่อไปในอนาคต”
เทคโนโลยีจาวาออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซัน ได้ออกใบอนุญาตให้กับ 200 บริษัทในการนำเทคโนโลยีจาวาไปใช้กับสินค้าของตน นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังถูกนำมาใช้โดยนักพัฒนาซอฟท์แวร์มากถึง 2.5ล้านคน ซึ่งทำให้เทคโนโลยีจาวาเป็นพื้นฐานซอฟท์แวร์ที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ และถูกนำมาใช้กับอุปกรณ์ทุกชนิด ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือขนาดเล็กไปจนถึงเซิฟร์เวอร์ขนาดใหญ่ เทคโนโลยีจาวาของซันได้รับการขนานนามให้เป็นโครงสร้างตัวจริงของโปรแกรมที่ใช้ในธุรกิจอีบิสซิเนส
“ตลอดเวลาที่ผ่านมา การฟ้องร้องเกิดขึ้นเพื่อปกป้องผู้ที่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งนักพัฒนาซอฟท์แวร์ และผู้บริโภคด้วยการรักษาความเป็นเอกภาพและความคงที่ (Consistency) ของแพลทฟอร์ม” นางแพททรีเซีย ซูลท์ รองประธาน บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ กลุ่มระบบซอฟท์แวร์ กล่าว “เทคโนโลยีจาวาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายก็เพราะศักยภาพที่ให้ประโยชน์มหาศาลกับพัฒนาการของระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย ข้อตกลงที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นหลักประกันว่าศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวจะยังคงให้ผลเต็มที่ต่อไป”
เทคโนโลยีจาวาประสบความสำเร็จมหาศาล เพราะจาวาช่วยให้นักพัฒนาซอฟท์แวร์สร้างโปรแกรมขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาแบบง่ายๆ บนอินเตอร์เน็ตเบราเซอร์ ไปจนถึงเครื่องมือที่ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ซับซ้อนและโปรแกรมที่ใช้เชื่อมการสื่อสารแบบไร้สายซึ่งใช้เชื่อมอุปกรณ์ได้แทบทุกชนิด ซึ่งเทคโนโลยีจาวาสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย การทำสวิตซ์ชิ่ง (Switching) หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการปรับแต่งโปรแกรมตามพื้นฐานของระบบที่ใช้
ไมโครซอฟท์ตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอเทคโนโลยีจาวาให้แก่นักพัฒนาซอฟท์แวร์และลูกค้าของตน แต่เทคโนโลยีจาวาก็สร้างผลกระทบต่อการผูกขาดตลาดระบบปฏิบัติการที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของไมโครซอฟท์ (Desktop) เพราะเทคโนโลยีจาวาสามารถนำไปใช้พัฒนาโปรแกรมและสินค้าต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องขึ้นกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์
ในปี พ.ศ 2539 (ค.ศ1996) ไมโครซอฟท์ ดำเนินการขอใบอนุญาตในการใช้เทคโนโลยีจากซัน พร้อมทั้งสัญญาว่าจะนำเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานร่วมกันได้กับแพลทฟอร์มโดยไม่ต้องแก้ไขสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา และยังเริ่มจำหน่ายเครื่องมือช่วยในการพัฒนาที่ไม่สามารถใช้งานร่วมกันกับแพลทฟอร์มอื่นๆ ส่งผลให้แอพพลิเคชั่นที่เขียนขึ้นมาโดยใช้เครื่องมือนั้นๆ จะใช้งานได้เฉพาะบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์เท่านั้น
ซัน ได้ขอให้ไมโครซอฟท์หยุดการจำหน่ายโปรแกรมที่เป็นเทคโนโลยีจาวาซึ่งไม่สามารถใช้งานร่วมกับแพลทฟอร์มอื่นได้ แต่ไมโครซอฟท์ไม่ได้ปฏิบัติตามซึ่งส่งผลให้ซันต้องยกเลิกใบอนุญาตเทคโนโลยี และข้อตกลงการจัดจำหน่าย
นางซูลท์กล่าวต่อไปว่า “ข้อสมมติฐานอันเป็นที่เข้าใจร่วมกันของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คือการที่เราสามารถเชื่อใจได้ว่าทุกคนจะเคารพในพันธะสัญญาที่กล่าวไว้พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฏระเบียบอันเดียวกัน กฏที่ว่านี้กำหนดให้สมาชิกแต่ละคนในชุมชนมั่นใจว่าเทคโนโลยีของพวกเขาจะตรงกับเทคโนโลยีมาตรฐาน และจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีอื่นได้ๆ”
“ไมโครซอฟท์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่เต็มใจปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ยึดถือร่วมกันในวงการอินเตอร์เน็ต” นางซูลท์กล่าว พร้อมเสริมว่า “พฤติกรรมของไมโครซอฟท์ต่อเทคโนโลยีจาวาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งไมโครซอฟท์เลือกที่จะยุติสัญญาแทนการทำงานร่วมกัน”
เมื่อสัญญาสิ้นสุด ซัน และ ไมโครซอฟท์ ได้ตกลงที่จะยุติการฟ้องร้องทางกฎหมายที่เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 1997 ต่อหน้าผู้พิพากษาโรแนล เอ็ม ไวท์ แห่งศาลแขวงสหรัฐในเมืองซานโฮเซ่ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
ศาลจะมีคำสั่งห้ามไมโครซอฟท์ใช้เครื่องหมายการค้าจาวา คอมแพททิเบิล (JAVA COMPATIBLE trademark) ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้พบว่าบริษัทไมโครซอฟท์ได้จัดจำหน่ายสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีจาวาที่ไม่สามารถใช้งานร่วมกับแพลทฟอร์มอื่นได้ จึงได้มีคำสั่งในชั้นต้นห้ามไมโครซอฟท์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว
เพื่อคุ้มครองนักพัฒนาและผู้บริโภคที่ได้ลงทุนไปในซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์ที่ใช้เทคโนโลยีจาวา ซัน ได้อนุญาตให้ไมโครซอฟท์จัดจำหน่ายได้แต่เพียงเวอร์ชั่น 1.1.4 เท่านั้น ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้ผ่านการปรับให้ถูกต้องตรงตามคำสั่งศาลและรับรองโดยซัน ใบอนุญาตจะครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีจาวาและมีระยะเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ไม่มีสิทธิ์นำเทคโนโลยีจาวาไปใช้กับผลิตภัณฑ์ใดๆ รวมทั้งลิขสิทธิ์ทางปัญญาของซันทุกประเภท
เทคโนโลยีจาวาของซัน เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและในปัจจุบันกลายเป็นหัวใจสำคัญสำหรับระบบบริการเครือข่าย
“ ปีนี้ ในธุรกิจสื่อสารไร้สายและตลาดทีวีอินเตอร์แอคทีฟโดยคู่ค้าของซัน จะเปิดตัวสินค้าและอุปกรณ์มากมายที่นำเทคโนโลยีจาวาไปประยุกต์ใช้” ริช กริน รองประธานบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ และผู้จัดการทั่วไปแผนกซอฟท์แวร์จาวากล่าว “บริษัทคู่ค้าของเราจะเปิดตัวสมาท์การ์ดที่ใช้เทคโนโลยีจาวาถึง 250 ล้านใบในปีนี้ ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับระบบรักษาความปลอดภัยและบริการที่ให้ความเป็นส่วนตัว ( Personalisation services) บนเน็ต
“และมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของแอพพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ได้นำเอา J2EE มาใช้เสมือนหนึ่งมาตรฐาน ทั้งนี้ เทคโนโลยีจาวาในปัจจุบันเป็นพลังสำคัญของอุปกรณ์ทุกประเภทบนเน็ต และที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยสถาปัตยกรรมที่เปิดกว้างต่อนวัตกรรม รวมไปถึงการเป็นพันธมิตรในการทำงานร่วมกัน” นายกริน กล่าวเสริม
เมื่อดูจากศักยภาพและความต้องการที่แพร่สะพัดของเทคโนโลยีจาวา ไมโครซอฟท์เลือกที่จะท้าทายมากว่าร่วมปฏิบัติตาม ดังเช่นสมาชิกอื่นๆ ในชุมชนผู้ให้บริการผ่านเว็บ ( Web services community)
“ซันจะยังคงให้เสรีในเทคโนโลยีจาวาเวอร์ชั่นล่าสุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด (JDK 1.3) แก่ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และจะสนับสนุนวินโดวส์ต่อไป” นายกริน กล่าว
นอกจากนี้ ซันจะเปิดกว้างพร้อมดูความเป็นไปได้ในการที่ไมโครซอฟท์จะจัดจำหน่ายซอฟท์แวร์ที่ใช้เทคโนโลยีจาวารุ่นล่าสุดและมีประสิทธิภาพที่สุด
“บางทีในอนาคต ไมโครซอฟท์จะตระหนักถึงผลประโยชน์ในการทำงานร่วมกับชุมชนจาวา” นางซูลท์กล่าว
ตั้งแต่เปิดบริษัทมาในปี 1982 บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ได้ดำเนินนโยบายภายใต้วิสัยทัศน์หนึ่งเดียว คือระบบเครือข่ายคือคอมพิวเตอร์ (แนสแดก SUNW) ซึ่งทำให้บริษัทอยู่ในฐานะผู้นำด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และบริการต่างๆ ที่เกื้อหนุนอินเตอร์เน็ตและเอื้ออำนวยให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกก้าวเข้าสู่ธุรกิจ ดอต-คอม บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ มีธุรกิจอยู่ในกว่า 170 ประเทศ และมีรายได้ต่อปีสูง ถึง 17, 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เว็บไซต์คือ http://www.sun.com หรือ เอเชียเซาท์ http://www.sun/com.sg
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ จำกัด (ประเทศไทย) จำกัด
รัมภา มนูญศิลป์
โทร. 636-1555
บริษัทเอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด
แมททิวส์ สมิท
บงกช แพบรรยง
โทร. 658-6111-20--จบ--
-อน-