กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เส้นใยนุ่นเป็นเส้นใยธรรมชาติจากฝักของต้นนุ่น ปราศจากยาฆ่าแมลงและสิ่งสกปรก นุ่นมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวที่สามารถดูดซับน้ำมัน และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จากจุดเด่นดังกล่าว นายชุติพนธ์ ลิ้มนิวัติกุล นางสาวจิรัฐติกาล แดงด้วง นายภูวนัตถ์ รัตนเสถียร และนายธนาคาร จันทราคีรี นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำเส้นใยนุ่นมาวิจัย และพัฒนาให้เกิดประโยชน์จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเส้นใยนุ่นได้จนเป็นผลงาน ฟองน้ำเช็ดทำความสะอาดคราบน้ำมันบนภาชนะ และเครื่องครัว (SuperClean Sponge: Oily-Utensil Cleaning Material) และแผ่นเช็ดทำความสะอาดผิว (NViro Pad: Biodegradable Cosmetic Pad) โดย นายฉัตรชัย กล่อมแก้ว นายธนธรณ์ เผือกวิสุทธิ์ นายปริวรรต บุญยะไทย และนายวุฒิสิทธิ์ กิจเกรียงไกร นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.
ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ The 3rd World Invention Innovation Contest (WiC 2017) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ผลงาน SuperClean Sponge คว้ารางวัล Gold Medal 1 รางวัล ถ้วยรางวัลพิเศษจาก WIA และรางวัลพิเศษจาก TISIAS Special Award ส่วน NViro Pad คว้า Gold Medal 1 รางวัล และถ้วยรางวัลพิเศษจาก KINEWS
นายชุติพนธ์ กล่าวว่า "เส้นใยนุ่นมีสารเคลือบผิวตามธรรมชาติ หรือแว็กซ์ ซึ่งจะป้องกันน้ำทำให้เส้นใยนุ่นไม่เปียกน้ำ และมีคุณสมบัติป้องกันแมลง ไรฝุ่น และเชื้อรา ทีมวิจัยนำเส้นใยนุ่นมาลอกแว็กซ์ และเคลือบสาร 2 ชนิด คือ สารทึบน้ำ และสารลดแรงตึงผิว จะได้เส้นใยนุ่นที่มีคุณสมบัติไม่เปียกน้ำแต่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันได้ จึงออกแบบสำหรับการใช้งาน 2 ลักษณะ คือ แผ่นทำความสะอาดภาชนะ เครื่องครัว และใช้ดูดซับน้ำมันจากอาหารทอด เส้นใยพิเศษของนุ่นที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันที่บรรจุใน SuperClean Sponge จำนวน 20 กรัม สามารถดูดซับน้ำมันได้ 50 เท่าของน้ำหนักเส้นใย SuperClean สามารถกำจัดคราบน้ำมันบนภาชนะโดยไม่ต้องใช้น้ำยาล้างจาน ดังนั้นการทำความสะอาดเครื่องครัวจะใช้น้ำน้อยลง ด้วยเวลาที่สั้น แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ SuperClean Sponge เช็ดที่ผิวของในภาชนะ และล้างด้วยน้ำอุ่น ภาชนะและเครื่องครัวก็จะสะอาด หากใช้ SuperClean ดูดซับน้ำมันจากอาหารทอด เส้นใยนุ่นสามารถทำให้อาหารทอดคายความร้อนได้ช้า น้ำมันจะออกมาจากอาหารได้มาก อาหารจะไม่อมน้ำมันและคงความกรอบ ส่วนน้ำมันถูกดูดซึมบน SuperClean Sponge สามารถบีบออกได้ง่าย สามารถใช้ซ้ำได้มากกว่า 10 ครั้ง เทียบกับการดูดซับน้ำมันได้ถึง 10 ลิตร น้ำมันเหล่านี้สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้"
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ที่ปรึกษาทั้ง 2 ผลงาน กล่าวว่า "เส้นใยนุ่นเป็นไฟเบอร์ที่เป็นท่อสั้น และผนังบาง จึงสร้างความสมดุลระหว่างความนุ่ม และความยึดหยุ่น เหมาะสำหรับการทำความสะอาดผิวที่บอบบาง พื้นที่ผิวของ NViro Pad จะเก็บกักความชื้น คายตัวได้ดี จึงลดปริมาณการใช้คลีนซิ่งและโทนเนอร์ และยาฆ่าเชื้อโรค สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยล้างทำความสะอาดด้วยการต้มในน้ำเดือด แล้วนำมาผึ่งในสภาพอากาศปกติเพียง30 นาที เส้นใยจะแห้ง ซึ่งแผ่นเส้นใยนุ่นที่ใช้แล้วสามารถย่อยสลายได้ภายใน 60 วันกลายเป็นสารอินทรียวัตถุ หรือปุ๋ยในดินได้"
ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "นอกเหนือจากการทำโปรเจคของนักศึกษา ภาควิชาต้องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่นำไปสู่การตอบโจทย์ของสัมคมได้จริง ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่ม กลุ่มอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สอนนักศึกษาและทำวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นนักลงทุนผู้ทำหน้าที่ผลิต ได้ผลงานวิจัยที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปผลิตได้จริง และได้ทรัพยากรบุคคลที่จะเข้าไปทำงานกับบริษัท และกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมเรียนรู้การทำวิจัยที่ตอบโจทย์จริงของสังคมและมีคุณค่าผลิตได้จริง โดยเมื่อนักศึกษาจบจะมีสถานประกอบการรอรับเข้าไปทำงานเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการทำผลงาน
การทำโปรเจกต์ลักษณะนี้นักศึกษาได้ใช้ความรู้แบบบูรณาการทำให้นักศึกษาได้คิดและมองครบทุกด้าน เนื่องจากผลงานนี้ไม่ใช่เป็นงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างดียว ต้องเกี่ยวกับงานชุมชน และเกษตรกรรมด้วย และสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อการแก้ปัญหาระดับโลก เช่น เส้นใยนุ่นดูดซับน้ำมันที่รั่วไหลในทะเล หรือผ้าอ้อมเด็กที่ย่อยสลายได้"