กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 52.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 46.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 49.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่69.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 64.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- 27 ส.ค. 60 พายุเฮอริเคน Harvey (ความเร็วลม 130 ไมล์/ชม.หรือ 209 ก.ม/ชม.) เคลื่อนตัวจาก Gulf of Mexicoขึ้นชายฝั่งสหรัฐฯ ที่เมือง Corpus Christi รัฐ Texas ทำให้เกิดน้ำท่วม โรงกลั่นน้ำมันในบริเวณนั้นต้องหยุดดำเนินการ ซึ่งบริษัท Goldman Sachs. ประเมินอุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาจล้นตลาดราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติให้ระบายน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve:SPR) เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรล ในวันที่ 30 ส.ค. 60 และในวันที่ 1 ก.ย. 60 ได้อนุมัติเพิ่มอีก 3.5 ล้านบาร์เรล
- กระทรวงพลังงานของรัสเซีย รายงานโรงกลั่นในประเทศที่ปิดซ่อมบำรุง เดือน ก.ย. 60 มีกำลังการกลั่นรวมอยู่ที่ 788,000 บาร์เรลต่อวัน สูงกว่าในเดือน ส.ค. 60 ซึ่งมีกำลังการกลั่นที่ปิดซ่อมบำรุงอยู่ที่ 509,000 บาร์เรลต่อวัน
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุด 29 ส.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 105,377 สัญญา อยู่ที่ 165,896 สัญญา ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Reuters รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 60 ลดลง 0.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 32.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน และระดับความร่วมมือ (Compliance Rate) ในการลดปริมาณการผลิตอยู่ที่ 89 % เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5 %
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (National Oil Corp.: NOC) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันลดลงจากเดือนก่อน 35% หรือ 360,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 660,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธปิดท่อขนส่งน้ำมัน
- กองกำลังติดอาวุธ National Liberation Army (ELN) ในโคลัมเบียวางระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ Cano-Limon Covenas (ปริมาณสูบถ่าย 210,000 บาร์เรลต่อวัน-อันดับ 2 ของประเทศ) ทำให้ต้องหยุดดำเนินการ ทั้งนี้กลุ่ม ELNเข้าโจมตีระบบท่อขนส่งน้ำมันอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ระหว่างการเจรจาสงบศึกตั้งแต่เดือน ก.พ. 60
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับเพิ่มขึ้นจาก Federal Bureau of Safety and Environmental Enforcement ของสหรัฐฯรายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกปิดดำเนินการ 5.5 % หรือ 96,000 บาร์เรลต่อวัน (ประมาณ 1 % ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ) เพราะความเสียหายจากเฮอริเคน Harvey และโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งใน Texas เริ่มกลับมากลั่น อาทิ โรงกลั่น Galveston Bay (459,000 บาร์เรลต่อวัน) เดินเครื่องที่ระดับ 45% และโรงกลั่น Corpus Christi (157,000บาร์เรลต่อวัน) อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติให้นำน้ำมันดิบจาก SPR ส่งให้โรงกลั่นเพิ่มอีก 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากการอนุมัติครั้งแรก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ด้านสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศทวีความตึงเครียด หลังเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และประกาศพร้อมติดตั้งกับขีปนาวุธระยะไกล อีกทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะใช้ปฏิบัติการทางทหาร หากเกาหลีเหนือคุกคามเกาะ Guam หรือพันธมิตรของสหรัฐฯ ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีกำหนดประชุมวันที่ 4 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาขยายมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ อาทิ ห้ามจำหน่ายน้ำมันให้รัฐบาลเกาหลีเหนือ, กองทัพ และสายการบินแห่งชาติ (Air Koryo) รวมทั้งเพิ่มรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่ออายัติทรัพย์สิน และห้ามการเดินทาง ให้ติดตามการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 7 ก.ย.นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาด ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0 % เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทางการค้า หลังเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 5 % ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 45-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้น หลังพายุ Harvey พัดผ่านชายฝั่งสหรัฐฯ รอบสอง ทำให้กำลังการกลั่น 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คิดเป็น 23 % ของกำลังการกลั่นทั้งประเทศ) หยุดดำเนินการ ขณะที่ระบบท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปสำคัญ Colonial Pipeline (ปริมาณสูบถ่าย 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จากฝั่งอ่าวเม็กซิโกไปบริเวณฝั่งตะวันออก และท่อขนส่ง Explorer (ปริมาณสูบถ่าย 660,000 บาร์เรลต่อวัน) จาก Houston ไป Tulsa หยุดดำเนินการ ส่งผลให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำมันเบนซิน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียแข็งแกร่ง โดยPertamina ออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 88 RON เพิ่มเติมจากตลาดจร (Spot) ปริมาณรวม 760,000 บาร์เรล ส่งมอบ ก.ย. 60 หลังรับมอบเต็มตามสัญญาระยะยาว (Term) ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 60 เนื่องจากโรงกลั่นมีแผนปิดซ่อมบำรุงหลายแห่งในเดือน ก.ย. 60 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงค์โปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 30 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองเบนซินน้ำมันเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 26 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.05 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้น จากอุปทานน้ำมันดีเซลลดลง โดย Energy Aspects คาดปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลจากสหรัฐฯ ไปยุโรป ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102,000บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่ 265,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปิดดำเนินการจากพายุเฮอริเคน Harvey และ Bloomberg รายงานGlobal Refinery Outage ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 6.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 2 ปี ประกอบกับ Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) ของอินเดียเลื่อนเปิดดำเนินการของหน่วย Hydrocracker (60,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นทางตอนใต้ (300,000 บาร์เรลต่อวัน) จากเดิมในสัปดาห์นี้ ไปประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค อนึ่ง โรงกลั่นดังกล่าวหยุดซ่อมบำรุง ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. 60 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES รายงานปริมาณสำรองMiddle Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงค์โปรสัปดาห์สิ้นสุด 30 ส.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 90,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามโรงกลั่นในยุโรป 2 แห่ง ของบริษัท Royal Dutch Shell เริ่มกลับมาเดินเครื่อง ได้แก่ โรงกลั่น Pernis (กำลังการกลั่น 404,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเนเธอร์แลนด์ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อ 29 ก.ค. 60 และโรงกลั่น Wesseling (กำลังการกลั่น 140,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเยอรมนี หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อ 22 ส.ค. 60 และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 26 ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.0 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล