กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการ ใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย โดยตรวจสอบรถจักรยานยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ยางรถยนต์ไม่บวมหรือปริแตก พร้อมเติมลมยางตามค่ามาตรฐาน รวมถึงเตรียมความพร้อมก่อนใช้รถจักรยานยนต์ เรียนรู้การขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะท่านั่งในการขับขี่ สวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด พร้อมเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่เสี่ยงอุบัติเหตุเป็นพิเศษ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ทั้งการขับรถเร็ว การขับรถย้อนศร โดยเฉพาะการ ไม่สวมหมวกนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้บาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะจนถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย ดังนี้ ตรวจสอบรถจักรยานยนต์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยยางรถยนต์ไม่บวมหรือปริแตก พร้อมเติมลมยางตามค่ามาตรฐาน รวมถึงระบบเบรกสามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย สัญญาณไฟส่องสว่างชัดเจน และปรับกระจกรถให้อยู่ในองศาที่สามารถมองเห็นด้านหลังได้ถนัด อีกทั้งตรวจสอบคันเร่งให้อยู่ในตำแหน่งปกติเมื่อผ่อนคันเร่งเตรียมความพร้อมก่อนใช้รถจักรยานยนต์ โดยผู้ขับขี่และผู้โดยสารควรแต่งกายให้รัดกุม เพื่อป้องกันเสื้อผ้าเกี่ยวเข้าไปในซี่ล้อรถ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากขับรถในช่วงกลางคืนให้สวมใส่เสื้อผ้าสีสดใสหรือสีสะท้อนแสง เพื่อให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางมองเห็นได้ชัดเจน สวมแว่นตากันลม เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและแมลงเข้าตา อีกทั้งสวมรองเท้าหุ้มส้นที่กระชับ จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณเท้า กรณีประสบอุบัติเหตุ เรียนรู้การขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะท่านั่งในการขับขี่ การทรงตัวและการควบคุมรถอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการขับรถ และมีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่ชัดเจน รวมถึงเทคนิคการใช้เบรกอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขาดทักษะในการขับขี่ สวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี โดยคาดสายรัดคางและปรับความตึง ให้กระชับใต้คาง ไม่บิดหรือหย่อน รวมถึงแน่นหนาเพียงพอที่หมวกจะไม่หลุดออกจากศีรษะ จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บ กรณีประสบอุบัติเหตุ ไม่นำหมวกนิรภัยที่หมดอายุ หรือเคยประสบอุบัติเหตุมาใช้งาน เพราะไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรงมากขึ้น ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยขี่รถในช่องทางเดินรถด้านซ้าย ไม่ล้ำกึ่งกลาง ของถนนหรือใช้ช่องทางที่กำหนดไว้สำหรับรถจักรยานยนต์ รวมถึงไม่ขี่รถบนทางเท้าหรือริมไหล่ทาง ให้สัญญาณไฟและ มองกระจกข้าง เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงค่อยเลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องทาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเฉี่ยวชน อีกทั้งใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเป็นระดับความเร็วที่ปลอดภัย และหมวกนิรภัยสามารถรองรับแรงกระแทกได้อย่าง มีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะ เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเส้นทางที่เปียกลื่น ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ เพื่อป้องกันรถเสียหลักล้ม หากมีรถจอดริมข้างทาง ให้ชะลอความเร็วหรือหยุดรถจักยานยนต์ก่อนขี่รถผ่านรถที่จอดอยู่ เพราะผู้ที่อยู่ในรถอาจเปิดปรตูรถหรือออกรถกะทันหัน ทำให้ได้รับอันตรายได้ ไม่แซงในระยะกระชั้นชิด หรือแซงบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย อาทิ ทางโค้ง เนินเขา ทางแยก บนสะพาน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เว้นระยะห่างจากรถคันอื่นในระยะที่สามารถหยุดรถหรือแซงรถได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การปฏิบัติตาม ข้อควรปฏิบัติในการใช้รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง