กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กรณี นายธัญญา สังขพันธานนท์ นามปากกา ไพฑูรย์ ธัญญา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2559 และกวีซีไรท์ ได้เขียนบทกวีคำผวน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "เหยียดเพศ"นั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปินสาขาต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถ มีผลงานที่โดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2528ใน 3 สาขา คือ สาขาทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง ตั้งแต่ปี 2528-2559 รวม 278 คน มีชีวิตอยู่ 157 คนและเสียชีวิต 121 คน
อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ โดยมีคณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติแต่ละสาขาเป็นผู้คัดเลือก ตั้งแต่ปี 2528 มุ่งเน้นคัดเลือกศิลปินเรื่องผลงาน มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม มีผลงานเป็นที่ยอมรับ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาโดยตลอด ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมี 6 ข้อ ดังนี้ 1. สัญชาติไทย และมีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่อง 2. มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะในสาขานั้น 3. สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง 4. เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ 5. มีคุณธรรม ทุ่มเท และอุทิศตนเพื่องานศิลปะ 6. มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
ทั้งนี้หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวมีหลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากสังคมไทยให้ความสำคัญเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมหรือคนที่สังคมให้การยอมรับ ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้รายงานว่ามีผู้เสนอว่า หลังจากนี้ควรจะหารือกับศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิถึงบทบทของศิลปินแห่งชาติ ในการทำงานและเผยแพร่ผลงาน องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงบทบาทในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในช่วงการคัดเลือกและ สรรหาศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 ซึ่งก็ยึดตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติอย่างเคร่งครัดและหารือถึงแนวทางปฏิบัติและบทบาทของศิลปินแห่งชาติเรื่องต่างๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้หลายๆ ท่านได้ทราบว่าการแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ อาจจะต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ การที่บุคคลใดออกมาแสดงความเห็นใดๆ ก็ตามนั้น อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ วธ. เนื่องจากเป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล