กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--สวทน.
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น พ.ศ. …. แก่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ เผยคณะกรรมการขานรับ พร้อมเตรียมชงร่าง พรบ. ดังกล่าว ต่อรัฐบาลเร็วๆ นี้
คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง โดยการประชุมครั้งนี้ มีวาระการประชุมที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสิรมสตาร์ทอัพ และการจัดตั้งโครงการพัฒนานวัตกรรม หรือ Regulatory Sandbox รวมถึงประเด็นสำคัญอย่าง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ ด้วย
ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้อำนวยการด้านธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ในฐานะผู้แทน สวทน. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2560 ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น พ.ศ. …. ซึ่งคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 2) ที่มี สวทน. เป็นประธานคณะทำงาน ได้จัดทำร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ โดยทาง สวทน. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ขึ้นเพื่อดำเนินการจัดทำและปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวมี นายศักรินทร์ ภูมิรัตน คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) เป็นประธานคณะทำงาน ทั้งนี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ได้กล่าวภายในที่ประชุมว่าจะเสนอรัฐบาลให้ประกาศใช้ พรบ. ฉบับนี้อย่างรวดเร็ว
"สาระสำคัญของร่าง พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น จะครอบคลุมในหลายประเด็นสำคัญ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและอื่นๆ ต่อวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพ ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามร่าง พรบ. โดยเสนอให้มีการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนหุ้นวิสาหกิจเริ่มต้น (Capital Gain) เป็นระยะเวลา 5-10 ปี เพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนกับสตาร์ทอัพในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การขอมาตรฐานต่าง ๆ นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมหรือ Regulatory Sandbox เพื่อเข้ามาดูแลสตาร์ทอัพที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ให้สามารถมาเข้าร่วมโครงการทดสอบก่อนได้รับการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย หรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมต่อไป" ผู้อำนวยการด้านธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ สวทน. กล่าว