กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--SASI PR CONSULTANT
ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากผลงานด้านนวัตกรรมและงานวิจัยโดยรุ่นใหญ่ นำมาอวดออร่ากันแน่นงานนับ 1,000 ผลงานแล้ว ยังมีเวทีให้น้องๆ นักวิจัยรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษา ได้โชว์ฝีมือความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ช่วยแก้ปัญหาสังคมและประเทศชาติที่น่าสนใจหลากหลาย
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.จัดกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้แก่กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในปีนี้ เพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอุดมศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจในการเขียนข้อเสนอโครงการและพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถพัฒนาผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ รวมถึงให้มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้ก้าวหน้าต่อไป
ปีนี้จัดประกวดใน 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ กลุ่มอาหารเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมการศึกษาและสังคมที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ปีนี้มีผลงานส่งประกวดรวม 103 ผลงาน
การพิจารณาผลงานที่ได้รับรางวัลด้านผลงานนวัตกรรม-สิ่งประดิษฐ์ ในปีนี้ สรุปได้ดังนี้
1.กลุ่มอาหารฯ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานชุดตรวจวัดปริมาณไซยาไนต์ในมันสำปะหลัง แบบเปรียบเทียบสีโดยใช้อนุภาคนาโนโลหะคู่ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2.กลุ่มสาธารณสุขฯ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน I-Walk 4.0 จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะฯ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ผลงาน โพลาร์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ตโฟน สโคป :ชุดอุปกรณ์เสริมไพลาไรเซชันสำหรับกล้องจุลทรรศน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ผลงาน ชุดของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการจากของเล่นพื้นบ้านไทย สำหรับเด็กอายุ 5-8 ปี จาก มหาวิทยาลัย ศิลปากร
5.กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน เครื่องลดการแพร่กระจายของสัตว์พาหะ อาคารและห้องประกอบอาหาร ด้วยไอเย็นอิ่มตัวของน้ำหมัก EM ไร้มลพิษ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
การพิจารณาผลงานที่ได้รับรางวัลด้านข้อเสนอโครงการผลงานนวัตกรรม ในปีนี้ สรุปได้ดังนี้
1.กลุ่มอาหารฯ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานชุดตรวจวัดปริมาณไซยาไนต์ในมันสำปะหลัง แบบเปรียบเทียบสีโดยใช้อนุภาคนาโนโลหะคู่ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2.กลุ่มสาธารณสุขฯ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานการผลิตแผ่นแปะผิวหนังโดยใช้อนุภาคนาโนส่งสารเรสเวอราทรอลและกรดไลโปอิกสำหรับสลายไขมัน ใต้ผิวหนัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะฯ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ผลงาน โพลาร์กล้องจุลทรรศน์สมาร์ตโฟน สโคป :ชุดอุปกรณ์เสริมไพลาไรเซชันสำหรับกล้องจุลทรรศน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ผลงาน ชุดอุปกรณ์เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับเลนส์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานการเพิ่มสมรรถนะการกลั่นเอทานอลรังสีอาทิตย์ด้วยคลื่นอัลตราโซนิค จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาในปีนี้ นับว่าเป็นการแสดงผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษา ที่ทุ่มเทสร้างสรรค์มาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม รอการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดสู้การก้าวขึ้นไปสู่เวทีนักคิด นักวิจัยมืออาชีพ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาด ต่อไป ในอนาคตอันใกล้ สิ่งที่คนไทยอยากเห็นงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ผลงานวิจัยโดยคนไทยเพื่อคนไทยในแบบ Thailand 4.0 คงจะไม่ไกลเกินเอื้อม